อพวช. มอบรางวัล 14 เรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ พร้อมตีพิมพ์รวมเล่ม “ฝันชั่วนิรันดร์ของแมวศุภลักษณ์”

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (NSM) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด มอบรางวัล “โครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ประจำปี 2566” เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนและประชาชนได้แสดงความสามารถด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ผ่านงานเขียนเรื่องสั้น คัดเลือก 14 ผลงานเรื่องสั้น พร้อมจัดพิมพ์เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ เรื่อง “ฝันชั่วนิรันดร์ของแมวศุภลักษณ์” สู่สาธารณชน พร้อมเปิดตัวโครงการประกวดนวนิยายวิทยาศาสตร์ไทย โดยมี ศ.ดร.ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ประธานโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ในนามสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย รศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล, นางนรีภพ จิระโพธิรัตน์ อุปนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และนายวิชชพัชร์ โกจิ๋ว กรรมการบริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด ร่วมมอบรางวัลฯ ดังกล่าว ณ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ศ.ดร.ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ประธานโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ในนามสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “โครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ประจำปี 2566 จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนและประชาชนได้แสดงความสามารถด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ผ่านงานเขียนเรื่องสั้น และได้เห็นถึงศักยภาพในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ผ่านนิยายวิทยาศาสตร์ ที่จะเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดและเผยแพร่เรื่องราวความรู้จินตนาการแห่งความเป็นวิทยาศาสตร์อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมฐานความรู้ให้กับประเทศไทย ต้องขอแสดงความยินดีกับทุกท่านอีกครั้ง หวังว่าโครงการฯ นี้จะเป็นแรงผลักดันสร้างสรรค์นักเขียนแนววิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยมากขึ้นต่อไป”

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “ในปีนี้ โครงการฯ ได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 327 ผลงาน จากทั่วประเทศ ผลงานที่ส่งเข้าประกวดมีความหลากหลาย ทั้งในด้านเนื้อหา แนวความคิด และรูปแบบการเขียน คณะกรรมการตัดสินได้คัดเลือกเรื่องสั้น 14 เรื่อง ที่ล้วนแล้วแต่มีความน่าสนใจ สนุกสนาน และเต็มไปด้วยจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยส่งเสริมให้สังคมไทยสนใจ พร้อมสร้างทัศนคติและเจตคติด้านวิทยาศาสตร์ให้กับผู้คนในสังคม โดยผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจะถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือรวมเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ เรื่อง “ฝันชั่วนิรันดร์ของแมวศุภลักษณ์” โดยสำนักพิมพ์ นานมีบุ๊ค จำกัด”

14 ผลงานที่ได้รับรางวัลจากโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ประจำปี 2566 ได้แก่

1.รางวัลเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ รุ่นเยาวชน

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเรื่อง The Granter สร้างโลกฝันดังปรารถนา โดย ฐิติอาภา ขำคม ได้รับทุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและเกียรติบัตร

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ผลงานเรื่อง THAIVILISED 2123 โดย กชกร ศรีสุข ได้รับทุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน 15,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและเกียรติบัตร

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ผลงานเรื่อง พิพิธภัณฑ์อนันตา โดย พงศภัค พวงจันทร์ ทุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน 10,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและเกียรติบัตร

2.รางวัลเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ รุ่นประชาชนทั่วไป

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเรื่อง ศุภลักษณ์ โดย ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด ทุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและเกียรติบัตร

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ผลงานเรื่อง หนูติดจั่น โดย นวลาภ ธีรธนาธร ทุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน 25,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและเกียรติบัตร

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ผลงานเรื่อง  IDS : Identity Discontinuity Syndrome โดย กมล พิมพ์อ่ำ ได้รับทุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและเกียรติบัตร

และรางวัลชมเชย ได้รับทุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน 3,000 บาท ได้แก่

-ผลงานเรื่อง ปริศนาชั่วนิรันดร์ โดย กนก ณจันทร์ (นามปากกา)

-ผลงานเรื่อง บทสัมภาษณ์สำหรับเช้าวันจันทร์ โดย อินท์นรี มิ่งขวัญ

-ผลงานเรื่อง Love Android โดย ธีรินทร ภู่กาญจน์

3.รางวัลเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์สำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเรื่อง ภาพวาดของไอรา โดย เสาวรส มิตราปิยานุรักษ์ ทุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและเกียรติบัตร

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ผลงานเรื่อง Empathโดย  ปาณปวีร์ (นามปากกา) ทุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน 25,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและเกียรติบัตร

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ผลงานเรื่อง เด็กไม่พิเศษในระบบนิเวศของมนุษย์ไม่ธรรมดา โดย ศิริ มะลิแย้ม (นามปากกา) ทุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและเกียรติบัตร

และรางวัลชมเชย ได้รับทุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน 3,000 บาท ได้แก่

-ผลงานเรื่อง กลางทะเลเวิ้งว้างสีน้ำเงินดำ โดย ไพรัตน์ ยิ้มวิลัย

-ผลงานเรื่อง โรคซึมเศร้าของเหล่า A.I. โดย วินาที สุวรรณเวโช (นามปากกา)