วันที่ 11 สิงหาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีมอบรางวัล Thailand Research Expo 2023 Award และมอบโล่แสดงความขอบคุณแก่หน่วยงานที่นำผลงานร่วมนำเสนอ ในพิธีปิดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) ซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล Platinum Award จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล และเกียรติบัตร โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้มอบถ้วยรางวัล ประเภท รางวัล Gold Award รางวัล Silver Award รางวัล Bronze Award พร้อมประกาศเกียรติบัตร และศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบโล่แสดงความขอบคุณแก่หน่วยงานที่นำผลงานร่วมนำเสนอในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” ณ เวที Highlight Stage โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนและกระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ เห็นความสำคัญในการนำเสนอผลงานวิจัยและกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยที่มีคุณภาพเข้าร่วมในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” และได้จัดให้มีกิจกรรม Thailand Research Expo 2023 Award ซึ่งเป็นการพิจารณาคัดเลือกผลงานที่มีกระบวนการนำเสนอที่มีความโดดเด่นในรูปแบบที่หลากหลายและสามารถเชื่อมโยงส่งต่องานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไปได้ โดยแบ่งผลงานออกเป็น 5 ประเภท และมีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ ดังนี้ รางวัล
Platinum Award จำนวน 2 รางวัล ผู้รับรางวัลได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 120,000 บาท และเกียรติบัตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยผลงาน “สมุทรสงครามอยู่ดี : การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฐานนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน” และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยผลงาน “ระบบสมาร์ทฟาร์มและระบบอัตโนมัติสำหรับการเพาะปลูกพืชผักปลอดสารพิษ”
รางวัล Gold Award จำนวน 4 รางวัล ผู้รับรางวัลได้รับถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 70,000 บาท และเกียรติบัตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยผลงาน “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์กาแฟอะราบิกาจากกระบวนการ Facultative Anaerobic Yeast (FAY) process”การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยผลงาน “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่” มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยผลงาน “กำเนิดพันธุ์ข้าวหอมแม่โจ้”และมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยผลงาน “นวัตกรรมอาหารและเครื่องสำอางมูลค่าสูงจากส่วนเหลือ ของกระบวนการสีข้าวสังข์หยดสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วย BCG model”
รางวัล Silver Award จำนวน 6 รางวัล ผู้รับรางวัลได้รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 50,000 บาท และเกียรติบัตร ตามลำดับ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยผลงาน “การขับเคลื่อน BCG โดยกลไกการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ปลิงควายอย่างยั่งยืน” มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยผลงาน “วิถีเครื่องสำอาง BCG จากชุมชนท้องถิ่น สู่การพัฒนา ชุมชนสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน” มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยผลงาน “การยกระดับคุณค่าและมูลค่าภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีบนฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยผลงาน “การพัฒนาข้อมูลดิจิทัล 3 มิติ เพื่อการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานและการรักษามรดกทางวัฒนธรรม” มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยผลงาน “การใช้ประโยชน์ชีวมวลปาล์มน้ำมันสำหรับผลิตภัณฑ์และสารเคมีมูลค่าสูง”และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยผลงาน “การพัฒนารูปแบบยาเตรียมตำรับลดการติดยาจากตำรับยาทำให้อดฝิ่น ชนิดเม็ดฟู่”
รางวัล Bronze Award จำนวน 8 รางวัล ผู้รับรางวัลได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (4 รางวัล) ถ้วยรางวัลจากผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (4 รางวัล) พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 30,000 บาท และเกียรติบัตร ตามลำดับ ได้แก่ ถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช โดยผลงาน “การยกระดับและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภาสู่การเป็นผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช ”สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยผลงาน “การบริหารพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชอย่างยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG” มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยผลงาน “การพัฒนาสายพันธุ์ผึ้งด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งของประเทศไทย” มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา โดยผลงาน “โครงการ ฟื้นฟู และต่อยอดผ้าลายอย่างเอกลักษณ์อยุธยา “จุฬาพัสตร์” สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน” ถ้วยรางวัลจากผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ โดยผลงาน “การพัฒนาเชื้อเพลิงเคมีชีวภาพจากตะกอนน้ำเสียที่ผ่านกระบวนการบำบัดแบบไม่ใช้อากาศ”มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม โดยผลงาน “การยกระดับอาชีพการนวดแผนไทยและสปา จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เส้นทางแม่น้ำนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม”การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยผลงาน “หุ่นยนต์ล้างแผงโซลาร์เซลล์ (Robotic Solar Cleaner)” และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดยผลงาน “เปลี่ยนขยะเป็นกราฟีนมูลค่าสูง”
รางวัลชมเชย จำนวน 16 รางวัล ผู้รับรางวัลจะได้รับเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 บาท และเกียรติบัตร ได้แก่ กรมการข้าว โดยผลงาน “หน่วยปฏิบัติการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย Rice DNA Testing Center” องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยผลงาน “การสำรวจความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความหลากหลายทางพันธุกรรม และความขัดแย้งในการทำลายพืชผลการเกษตร เพื่อการอนุรักษ์และ จัดการประชากรกระทิง (Bos gaurus) ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา อย่างยั่งยืน” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยผลงาน “ANSEE KHAO YAI นวัตกรรมเพื่อสร้างการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยผลงาน “เซนเซอร์ที่ใช้สนาม แม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับการวัดความชื้นดินในระบบการเกษตรอัจฉริยะ” กรมวิชาการเกษตร โดยผลงาน “”ฝ้ายเส้นใยสีธรรมชาติ” นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของกลุ่มผลิตสิ่งทอ” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยผลงาน “นวัตกรรมอาหารฟังก์ชันมูลค่าสูง: ซุปกึ่งสำเร็จรูปรสไทยสำหรับผู้สูงอายุ” มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต โดยผลงาน “การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบสู่การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะผ่านโครงงานฐานชุมชน” มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยผลงาน “นวัตกรรมชุมชนการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสังคม ด้วยโมเดลพุ่มพวง” มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยผลงาน “สานพลังเครือข่ายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือของนักเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดยะลา” สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยผลงาน “กระบวนการพิสูจน์แหล่งกำเนิดอัญมณี โดยใช้เอกลักษณ์ทางเคมี ด้วยเทคนิค LA-ICP-MS” มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยผลงาน “การพัฒนานวัตกรรมการแปรรูปผลโกโก้ (Theobroma cacao) และวัสดุเศษเหลือจากการแปรรูป เพื่อยกระดับการใช้ประโยชน์พืชผลทางการเกษตรอย่างยั่งยืน” สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยผลงาน “การใช้ประโยชน์จากโปรตีนจิ้งหรีดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟังก์ชันนอลฟู้ด (functional food) สูตรโปรตีนสูง ไขมันต่ำ” มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม โดยผลงาน “ชุดทดสอบการย่อยสตาร์ชและค่าดัชนีน้ำตาลในอาหาร โดยใช้การย่อยด้วยเอนไซม์ในสภาวะจำลอง” การไฟฟ้านครหลวง โดยผลงาน “DIGITAL TWIN by MEA GIS”มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยผลงาน “การพัฒนาแพลตฟอร์มปลาแห่งสยามเพื่อเป็นศูนย์กลางตลาดอิเล็กทรอนิกส์และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับปลาสวยงาม” และกรมทางหลวง โดยผลงาน “โครงการศึกษาเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุบัติเหตุบนทางหลวงที่เกี่ยวเนื่องจากการขับขี่หลับใน”