ซินโครตรอนคว้า Bronze Award จากผลงานเปลี่ยนขยะเป็น “กราฟีน”

ผลงานเปลี่ยนขยะเป็น “กราฟีน” โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) คว้า Bronze Award จากงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2566 ชูของเหลือทิ้งให้กลายเป็นวัสดุมีค่าแห่งอนาคต

ดร.ศรายุทธ ตั้นมี หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “ผลงานเปลี่ยนขยะเป็นกราฟีนมูลค่าสูง ผลงานวิจัยของ ดร.พัฒนพงศ์ จันทร์พวง หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเทคนิคและวิศวกรรม ได้รับ Bronze Award จากงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2566 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุม ชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ดร.ศรายุทธ ตั้นมี กล่าวต่อไปว่า ผลงานดังกล่าวเป็นงานวิจัยที่นำขยะมาผลิตเป็นกราฟีน ด้วยระบบสังเคราะห์กราฟีนด้วยการให้ความร้อนฉับพลัน โดยเลือกขยะที่มีไฮโดรคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ขวดน้ำเกลือ ขวดพลาสติก ยางรถยนต์ กาบมะพร้าว ซังข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งช่วยลดการเผาขยะชีวมวล ช่วยจัดการขยะ และหมุนเวียนคาร์บอนกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น นำกราฟีนไปผสมคอนกรีตเพื่อเพิ่มความแข็งแรง สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ และนับเป็นการเปลี่ยนของเหลือทิ้งให้กลายเป็นวัสดุแห่งอนาคตที่มีมูลค่าสูงได้”

“งานวิจัยดังกล่าวเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่สถาบันฯ ส่งเข้าร่วมจัดแสดงภายในงานมหกรรมวิจัยฯ ปีนี้ และยังมีตัวอย่างผลงานอื่นๆ อีก เช่น การพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟอราบิก้าไทยด้วยแสงซินโครตรอน การพัฒนาแก้วเพื่อเป็นวัสดุสำหรับแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาฟิล์มคาร์บอนเสมือนเพชรเพื่อบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น” ดร.ศรายุทธ ตั้นมี กล่าว