กรมชลประทาน เดินหน้าพัฒนาระบบการจัดการน้ำภาคตะวันออก เพิ่มความมั่นคงด้านน้ำ พร้อมเสริมศักยภาพการใช้น้ำให้ทุกภาคส่วนอย่างเพียงพอและเป็นธรรม เตรียมพร้อมรับ EEC หวังสร้างเสถียรภาพการใช้น้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืน
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก โดยจัดทำโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะก่อให้เกิดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวมไปถึงภาคการเกษตรและภาคบริการ ซึ่งส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำที่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กรมชลประทาน ได้วางแนวทางในการดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อรองรับการขยายตัวของทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออก ด้วยการกำหนดแผนงานพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำ เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในระยะเวลา 10 ปี อาทิ การปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม 7 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำบ้านบึง อ่างเก็บน้ำมาบประชัน อ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ จ.ชลบุรี และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา การปรับปรุงแหล่งน้ำทั้ง 7 แห่งนี้ สามารถเพิ่มความจุอ่างฯได้รวมกันประมาณ 102 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) จากความจุเดิมรวมกัน 770 ล้าน ลบ.ม. เป็น 872 ล้าน ลบ.ม.
นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่เพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง ในลุ่มน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำวังโตนด ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มมากขึ้นรวม 308.50 ล้าน ลบ.ม. สำหรับใช้ในภาคการเกษตรในลุ่มน้ำวังโตนดอย่างเพียงพอและผันน้ำส่วนเกิน ปีละประมาณ 47 ล้าน ลบ.ม. มาช่วยพื้นที่ EEC รวมไปถึงการสูบผันน้ำจากคลองสะพานไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งจะทำให้ได้น้ำใช้การได้อีกปีละประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนของการเชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำจะดำเนินการเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง คือการปรับปรุงคลองพานทอง เพื่อผันน้ำไปลงอ่างเก็บน้ำบางพระ ได้น้ำประมาณ 20 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และโครงการผันน้ำประแสร์-หนองค้อ-บางพระ เพื่อใช้รองรับการบริหารจัดการน้ำร่วมกันจากระบบผันน้ำจากคลองวังโตนด และน้ำที่ได้จากคลองสะพาน ซึ่งจะสามารถผันน้ำส่วนเกินไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำอื่นๆ ในการกระจายไปสู่พื้นที่ใช้น้ำต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2562 นี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์ว่าฝนจะน้อยกว่าค่าปกติ กรมชลประทาน จึงได้เตรียมความพร้อม โดยการดำเนินการสูบผันน้ำโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการสูบผันน้ำท่อส่งน้ำเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ วางแผนสูบน้ำประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม./ปี หรือประมาณ 275,000ลบ.ม./วัน ปัจจุบันสูบสะสมไปแล้วประมาณ 49.75 ล้าน ลบ.ม. และโครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่-อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล วางแผนผันน้ำประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม./ปี หรือประมาณ 500,000 ลบ.ม./วัน ปัจจุบันผันน้ำสะสมไปแล้วประมาณ 27.70 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับโครงการสูบผันน้ำผ่านท่อส่งน้ำเชื่อมโยงคลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ปัจจุบันได้เริ่มเดินเครื่องสูบน้ำตามแผนที่ได้วางไว้ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคมเป็นต้นมา โดยจะทยอยสูบน้ำตามแผนไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2562 ในอัตราประมาณวันละ 500,000 ลบ.ม. หรือเดือนละ 14 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะสามารถสูบผันน้ำมาลงอ่างเก็บน้ำบางพระ ได้ประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้สูบน้ำสะสมไปแล้วประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม. และระบบสูบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง – อ่างเก็บน้ำบางพระ ของบริษัท อีสวอเตอร์ จำกัด (มหาชน) สูบผันน้ำได้วันละ ประมาณ 100,000 ลบ.ม. หรือเดือนละ 3 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะสามารถสูบผันน้ำมาลงอ่างบางพระได้ประมาณ 15 ล้าน ลบ.ม. ช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำให้กับ ทุกกิจกรรมการใช้น้ำในเขตจังหวัดชลบุรีได้เป็นอย่างมาก
กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าหาแนวทางในการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง โดยให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออก รวมไปถึงภาคการเกษตรและการท่องเที่ยวด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและสร้างเสถียรภาพด้านการใช้น้ำอย่างทั่วถึง เพียงพอ และเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน
******************************************
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์