วันที่ 11 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น. กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง “ความร่วมมือสนับสนุนทางวิชาการเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม” โดยมี นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้เกียรติเป็นประธานสักขีพยาน พร้อมด้วย พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนาม ตลอดจน คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมพินิจฯ และคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 7 – 01 ชั้น 7 กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าววัตถุประสงค์ในความร่วมมือว่า กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีความพยายามที่จะทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการปรับปรุงหรือพัฒนากระบวนการแก้ไขบำบัดฟื้นฟู และพัฒนาพฤตินิสัยเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม พร้อมทั้ง พัฒนาโครงสร้างต่างๆ ที่จะช่วยลดอาชญากรรมในสังคม เพื่อให้เด็กและเยาวชนกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการดำเนินงานของกรมพินิจฯ ทั้งในด้านการศึกษาวิจัย เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ ออกแบบ ปรับปรุง และการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการพิทักษ์คุ้มครองเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมให้ได้รับการพัฒนาในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมอย่างเท่าเทียม การลงนามฯ ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมและยกระดับความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคี อันจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ในนามของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในการขับเคลื่อนและผลักดันให้การพัฒนาเด็กและเยาวชนสามารถที่จะดำรงชีวิตอยูในสังคมได้อย่างมีความสุข ตั้งแต่เด็กๆ เรามักจะยินคำว่า ‘เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า’ และมักจะได้ยินคำว่า ‘เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ’ นั่นคือสิ่งที่เราได้ยินกันมาโดยตลอด หมายความว่า คนที่จะทำให้ชาติเจริญได้ก็คือต้องเป็นเด็กดี เป็นเด็กฉลาด แต่เด็กก้าวพลาดจะไปไหน เด็กก้าวพลาด คือคนที่สังคมมองว่านั่นคือเด็กเหลือขอ คือเหลือจากคนที่ไม่อยากเลี้ยงแล้ว แล้วเด็กเหลือขอนี้จะไปที่ไหนต่อ นั่นคือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถูกสังคมทอดทิ้ง และก็ต้องมาอยู่กับกรมพินิจฯ เพื่อควบคุมดูแลซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากว่าเด็กกลุ่มนี้ในอนาคตอีกไม่กี่ปีจะออกมาใช้ชีวิตในสังคมของเรา ซึ่งการควบคุมนี้เป็นแนวคิดเดิม ซึ่งปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไป จากกฎหมายที่เราเห็น จากความพยายามในการแก้ไข สะท้อนออกมาทางมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขในประมวลกฎหมายอาญาที่ให้เด็กอายุไม่ต่ำกว่า 12 ปี ไม่ต้องรับโทษในทางอาญาและขยับขึ้นมาจาก อายุ 7 ปี เป็น 10 ปี และ 12 ปี ในที่สุด และเราจะมีเด็กที่ต้องเข้ามารับโทษทางอาญาน้อยลง แต่ก็ยังมีเด็กที่กระทำความผิดแล้วมาอยู่ในความดูแลฟื้นฟูไม่ให้กลับไปกระทำความผิดอีก นอกจากนี้เราได้เห็นถึงความพยายามในการที่จะแก้ไขประมวลกฎหมายในคดีอาญาที่ปฏิบัติต่อเด็ก เราเห็นทางออกของกฎหมายใหม่ๆ เรื่องการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งคณะนิติศาสตร์เราได้มีโอกาสทำงานร่วมกับกรมพินิจฯ ในหลายโครงการ เราได้เห็นถึงการพัฒนา และมุมมองก้าวใหม่ของกรมพินิจฯ ซึ่งมองว่าไม่ใช่ในฐานะผู้คุม แต่เป็นสถานที่ที่จะช่วยพิทักษ์ ดูแล และประคับประคอง ส่งเสริม และส่งต่อเด็กเหล่านี้ให้เขาสามารถกลับไปสู่สังคมได้อย่างดีที่สุด และสิ่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างมากคือเราได้เห็นสถิติของการกระทำผิดซ้ำที่ลดลงจากสมัยก่อนอย่างมาก และขอชื่นชมในการทำงานของกรมพินิจฯ และบุคลากรทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง
เรารู้สึกยินดีที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานกับกรมพินิจฯ และหากเปรียบเทียบกรมพินิจฯ เป็นปลายน้ำของกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ของเราก็คงจะเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม เพราะเราคือผู้ที่จะผลิตคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่จะเข้ามาช่วยดูแลคนและเด็กที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เพราะฉะนั้นการที่เราได้ร่วมมือกันในวันนี้ เสมือนว่าเราเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างองค์ความรู้จากปัญหาต่างๆ ที่ท่านพบเจอในทางปฏิบัติ ซึ่งเรามีทั้งนิสิตและคณาจารย์ที่จะสามารถช่วยในการที่จะพัฒนาองค์ความรู้เหล่านี้ให้ออกมาเป็นรูปธรรมในเชิงวิชาการและทฤษฎีได้ ขณะเดียวกันทางนิสิตเองแม้ว่าจะอยู่ในภาควิชาการแต่สิ่งที่เรายังขาดก็คือมุมมองของผู้ปฏิบัติ นี่คือสิ่งที่พวกเราจะได้เรียนรู้จากท่านเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการสร้างองค์ความรู้นี้ไม่ได้มีเพียงฝ่ายเดียวแต่เราจะร่วมสร้างไปด้วยกัน และจะสามารถนำไปใช้ได้จริง นอกจากนี้ก็เป็นโอกาสดีของนิสิตเราที่จะได้เรียนรู้จากการทำงานกับกรมพินิจฯ และเป็นอีกแนวทางที่จะทำให้นักกฎหมายรุ่นใหม่สามารถออกไปรับใช้สังคมได้อย่างเพรียบพร้อม ทั้งในด้านของความรู้เชิงวิชาการและประสบการณ์จริง ขอบคุณกรมพินิจฯ และกระทรวงยุติธรรม ที่ให้โอกาสเรา และเชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการ ‘พินิจด้วยรัก พิทักษ์ด้วยใจ’ เพื่อเด็กและเยาวชนของประเทศไทยของเราต่อไป
นายสหการณ์ กล่าวถึงการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรม ภายใต้ภารกิจคืนเด็กดีสู่สังคม ว่า เยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเกิดจากพัฒนาการ หรือการหล่อหลอมที่ผิดพลาดในทุกช่วงวัย ซึ่งกระบวนการหล่อหลอมนั้นก็ส่งผลต่อความคิด จิตใจ และพฤติกรรม จนกระทั่งเกิดการกระทำความผิด เพราะฉะนั้นการแก้ไขเด็กและเยาวชนเหล่านี้ จะต้องมีสายวิชาชีพที่หลากหลายทั้งนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักการศึกษา สาธารณสุข และนิติศาสตร์ เข้ามาร่วมบำบัด และแก้ไขสิ่งที่ปลูกฝังเด็กและเยาวชนเหล่านี้มา ด้วยบริบทและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน และอีกสิ่งสำคัญในการแก้ไขและพัฒนา คือ หลักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ด้านกระบวนการยุติธรรม และด้านวิชาชีพ เพราะฉะนั้นการที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จะนำไปสู่ความสำเร็จ เนื่องจากคณะนิติศาสตร์ ประกอบด้วย นักวิชาการที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทั้งด้านนิติศาสตร์ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกรมพินิจฯ อย่างยิ่งที่จะได้รับโอกาสในการสนับสนุนการทำงาน การพัฒนา และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเด็กและเยาวชน ขณะเดียวกันกรมพินิจฯ พร้อมเปิดพื้นที่ให้คณะนิติศาสตร์ มาศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และร่วมพัฒนากระบวนการ รูปแบบ วิธีการดูแลเด็กและเยาวชนเหล่านี้ ถือเป็นการสร้างบัณฑิตของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ และสมบูรณ์ ตามความคาดหวังของสังคม และเพื่อจะได้ขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมของประเทศให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป