ศน. จัดแสดงสวนแสงแห่งศรัทธา “มหัศจรรย์ประทีปแห่งศรัทธามหาบารมี” ตระการตากับการประดับดวงไฟที่งดงามนับหมื่นดวง นำเสนอสัญลักษณ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 5 ศาสนา

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับองค์การทางศาสนา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดงานมหกรรมศาสนิกสัมพันธ์ สร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคม 2566 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ภายใต้แนวคิด “มหัศจรรย์ประทีปแห่งศรัทธามหาบารมี” รวมพลังศาสนิกชนทุกศาสนานำหลักธรรมสร้างความสมานฉันท์ในมิติศาสนา สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน ในระหว่างวันที่ 17-20 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย อาคารหอศิลป์แห่งชาติ และลานวัฒนธรรมสร้างสุข กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพฯ

นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวว่า กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม การจัดงานมหกรรมศาสนิกสัมพันธ์ ได้จัดแสดงนิทรรศการ “มหัศจรรย์ประทีปแห่งศรัทธามหาบารมี” ในรูปแบบสวนแสงแห่งศรัทธา ตระการตากับการประดับดวงไฟที่งดงามนับหมื่นดวงนำเสนอสัญลักษณ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 5 ศาสนา ที่แสดงถึงความเชื่อ ความศรัทธา ในแต่ละศาสนา ที่ศาสนิกชนได้สักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข ประกอบด้วย 1. ศาสนาพุทธ นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสัญลักษณ์ธรรมจักรแสดงถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สัญลักษณ์กวางหมอบ หมายถึง การแสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าที่ และพระมหาเจดีย์พุทธคยา ศาสนสถานที่มีความสำคัญที่สุด 1 ใน 4 แห่งของสังเวชนียสถาน เนื่องจากเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารวมทั้งต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นโพธิญาณพฤกษาหรือพันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ 2. ศาสนาอิสลาม นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับมัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดสงขลา มีชื่อเต็มว่า “มัสยิดกลางดิย์นุลอิสลาม” เป็นศาสนสถานที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยสง่า มีสระน้ำด้านหน้าทอดตัวยาวกว่า 200 เมตร ช่วงพระอาทิตย์ตกจะงดงามตระการตามาก ภายในตกแต่งได้สวยงาม โล่งโอ่โถง เหมาะแก่การทำจิตใจให้สงบ และทำพีธีกรรมต่างๆ ทางศาสนา มัสยิดกลางแห่งนี้โดดเด่นจนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่อยู่บนภูเขาในสวนสาธารณะหาดใหญ่ จนได้รับการขนานนามว่า “ทัชมาฮาลเมืองไทย” 3. ศาสนาคริสต์ นำเสนอเกี่ยวกับศาสนสถานและไม้กางเขน มีความหมายเกี่ยวกับการไถ่บาปให้มนุษย์ของพระเยซู และเป็นสัญลักษณ์สำคัญสำหรับผู้ที่เป็นคริสต์ศาสนิกชน ที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระคริสต์อย่างต่อเนื่อง 4. ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู นำเสนอสัญลักษณ์ โอม ซึ่งเป็นเสียงบูชาและอักขระทางภาษา เป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าสูงสุดทางศาสนา หรือตรีมูรติ เสียงโอมมาจากเสียง อะ สระท้ายสุดของพระศิวะ อุ มาจากเสียงสุดท้ายของคำว่า วิษณุ และ มะ คือสระเสียงสุดท้ายของพระพรหม รวมกันเข้าเป็นคำว่า โอม เทพเจ้าทั้งสามพระองค์ก็คือ วัฏจักรชีวิตของโลกที่มีการสร้าง การรักษา และการแตกดับ 5. ศาสนาซิกข์ นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับวิหารทองคำ (Golden Temple) เป็นศาสนสถานสีทองที่เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวซิกข์มากว่า 400 ปี ตั้งอยู่ในเมืองอมฤตสาร์ รัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย วิหารเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1604 ตั้งอยู่กลางสระน้ำอมฤต ที่ชาวซิกข์ถือเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ภายในวิหารเป็นที่เก็บรักษาพระมหาคัมภีร์คุรุ ครันถ์ ซาฮิบ (Guru Granth Sahib) อันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาซิกข์

อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวเพิ่มเติมว่า งานมหกรรมศาสนิกสัมพันธ์ “มหัศจรรย์ประทีปแห่งศรัทธามหาบารมี” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ศาสนิกชนทุกศาสนาได้นำหลักธรรมได้ใช้ในชีวิตประจำวัน มีความรักต่อกัน สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และร่วมกันแสดงถึงการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ด้วยการรรวมพลังความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม สร้างความสมานฉันท์สามัคคีและสันติธรรมในสังคมไทย จึงขอเชิญชวนศาสนิกชนทุกท่าน เข้าชมการแสดงนิทรรศการดังกล่าว ในระหว่างวันที่ 17 – 20 สิงหาคม 2566 ได้ตั้งแต่เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป ณ หอศิลป์แห่งชาติ และลานวัฒนธรรมสร้างสุข กระทรวงวัฒนธรรม สอบถามเพิ่มเติมสายด่วนวัฒนธรรม 1765