วันที่ 2 สิงหาคม 2566 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยถึงการปฏิรูประบบบริหารจัดการสถานรองรับเด็กว่า เบื้องต้น ได้มอบหมายให้ผู้บริหารกระทรวง พม. พร้อมผู้บริหารกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ลงพื้นที่เพื่อสแกนปัญหาการปฎิบัติงานและการดูแลเด็กในสถานรองรับเด็กสังกัด ดย. จำนวน 30 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีเด็กอยู่ในความดูแลกว่า 4,000 คน โดยมีการตรวจสอบถึงชั่วโมงการทำงานของพี่เลี้ยง ระบบงานสังคมสงเคราะห์ สภาพแวดล้อม สุขอนามัย ความปลอดภัย โภชนาการ ตารางกิจกรรมตลอด 24 ชั่วโมง มิติความเป็นส่วนตัวของเด็ก โปรแกรมการปรับพฤติกรรมเด็กบางรายที่อาจจะมีปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงเด็กที่มีภาวะพฤติกรรมเบี่ยงเบน เช่น ถูกกระทำความรุนแรงจากครอบครัว ก้าวร้าว ลักขโมย ทำร้ายผู้อื่นหรือทำร้ายตัวเอง เป็นต้น
อีกทั้งร่วมกับทีมสหวิชาชีพเข้าไปตรวจสอบถึงมาตรฐานการดูแลเด็กทั้งหมด รวมถึงการประเมินทักษะความสามารถ ความถนัดของเด็กแต่ละคน เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนารายบุคคล ในส่วนของเด็กโต มีการเสนอให้จัดตั้งสภาเด็กในสถานรองรับเด็ก โดยให้เด็กมีส่วนร่วมในการเสนอความต้องการและกำหนดกิจกรรมต่างๆ
นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ดูแลหรือพี่เลี้ยงเด็กจะต้องมีการประเมินการปฎิบัติงานทั้งทัศนคติ ทักษะความรู้ ศักยภาพการทำงาน รวมถึงชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไปหรือไม่ เป็นต้น โดยวิเคราะห์ภาพรวมทั้งหมดและจัดทำเป็นแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เพื่อเสนอของบประมาณจากรัฐในการดำเนินการแต่ละด้าน ซึ่งจากเหตุการณ์พี่เลี้ยงกระทำความรุนแรงกับเด็กในสถานสงเคราะห์เด็กหญิงจังหวัดสระบุรี รวมถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดในสถานรองรับเด็กเอกชน นับเป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องนำมาปรับและพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานสูงขึ้น ประกอบกับในห้วงเวลาเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จึงต้องทบทวนการทำงานเพื่อเสนอรัฐบาลชุดใหม่
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ มีการสแกนพบปัญหาต่างๆ เช่น ทัศนคติ การขาดทักษะในการสื่อสารกับเด็ก อัตราส่วนพี่เลี้ยงหรือผู้ดูแลเด็กไม่ได้เป็นไปตามสัดส่วนของลักษณะปัญหาของเด็ก ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องดึงภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุน นอกจากนี้ อาจต้องอาศัยกลไกคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด ซึ่งมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิและทีมสหวิชาชีพ ร่วมติดตามประเมินและให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานและพัฒนาการเด็กในสถานรองรับเด็กทั้งหมด โดยให้มีการรายงานทุกเดือน จากที่ผ่านมา มีการประเมินติดตามในระดับกรม
อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ โดยจะมีการรายงานประเด็นปัญหาให้ที่ประชุมรับทราบพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่ปัจจุบัน เด็กมีอัตราการเกิดน้อยลง แต่พบว่า มีการนำเด็กเข้าสู่สถานรองรับเด็กจำนวนมาก นับเป็นอีกข้อท้าทายที่ต้องไปดูปัญหาต้นทางที่ความเป็นอยู่ของเด็กในครอบครัว และร่วมกันเสนอทางออกว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้เด็กได้อยู่กับครอบครัวและชุมชนในพื้นที่อย่างปลอดภัย โดยรัฐเข้าไปช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน
#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม