นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บรรยายพิเศษเนื่องในโอกาสวันสถาปนาองค์กรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ครบรอบ 18 ปี และในโอกาสการศึกษางานของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปสม.) รุ่นที่ 1 หัวข้อ “สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับบทบาทในการร่วมพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน” สรุปว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยในปี 2562 นี้ นับเป็นปีที่ 18 ของการจัดตั้ง กสม. ซึ่ง กสม. ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 3) ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ท้าทาย 4 ประการ ได้แก่ 1) การส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 2) การเข้าถึงกระบวนการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (The UN Guiding Principles on Business and Human Rights – UNGP) 3) การคุ้มครองสถานะบุคคลและสิทธิความเป็นพลเมือง และ 4) การมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เมื่อมองถึงบทบาทต่างๆ ของ กสม. เช่น การให้คำปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชน การคุ้มครอง/ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชน เป็นต้น อาจเปรียบเทียบได้ว่า กสม. เป็นเสมือนกาวใจ หรือ สะพานเชื่อม ระหว่างรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชนหรือภาคประชาสังคม ให้มีความเข้าใจในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของแต่ละฝ่าย หากเกิดปัญหาข้อขัดแย้งต่อกันและไม่อาจร่วมกันแก้ไขปัญหาได้ กสม. จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริงและออกรายงานข้อเสนอแนะอันประกอบด้วยแนวทางแก้ไขปัญหาต่อการกระทำหรือการละเลยการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี แม้รายงานการตรวจสอบหรือรายงานข้อเสนอแนะของ กสม. จะไม่มีสภาพบังคับ ทำให้หลายคนอาจมองว่า กสม. เปรียบเสมือนยักษ์ไม่มีกระบอง แต่ตนเชื่อมั่นว่าความพยายามทำหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนและออกข้อเสนอแนะอย่างมีมาตรฐาน ครบถ้วน และรอบด้านตามหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนสากล ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมในที่สุด ทั้งนี้ หน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐและหน่วยงานของรัฐของ กสม. นี้ ยังถือเป็นหน้าที่สำคัญของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกว่าหลักการปารีส (Paris Principles) ด้วย
ประธาน กสม.กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับรองเอกสาร “ Transforming our world : the 2030 Agenda for Sustainable Development” ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) จำนวน 17 เป้าหมายหลัก และเป้าประสงค์รองอีก 169 เป้าหมาย โดยมีวัตถุประสงค์ขจัดความยากจนในทุกมิติและทุกรูปแบบ เน้นการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยเป้าหมายที่ 16 ของ SDGs มีความเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับสิทธิมนุษยชนเนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสังคมที่สงบสุข ลดความรุนแรงและการละเมิดทุกรูปแบบ รวมถึงอำนวยการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับทุกคน อันสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการดำเนินงานของ กสม. และเป็นเป้าหมายสำคัญที่ กสม. ยึดถือเพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
“การทำหน้าที่ของ กสม. บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนสากล หลักการปารีส ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ มีความมุ่งหวังสูงสุดคือการสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นได้จริงในสังคม อันจะทำให้ผู้คนทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วกฎหมายก็แทบไร้ความจำเป็น เพราะผู้คนในสังคมต่างเคารพในสิทธิและหน้าที่ของกันและกัน” นายวัส กล่าว
เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
12 กรกฎาคม 2562