วช. มอบนวัตกรรม “เท้าเทียมไดนามิกเอสเพส sPace” ให้กับ รพ.สุราษฎร์ธานี เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้พิการ

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีส่งมอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก sPace คุณภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ฝีมือนักวิจัยไทย ให้แก่ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน และมี นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับ โดย รองศาสตราจารย์ ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ร่วมส่งมอบเท้าเทียมไดนามิก “sPace” ให้กับ แพทย์หญิงสิณีนาฎ เจนวณิชสถาพร หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีผู้บริหารโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีและตัวแทนผู้พิการ เข้าร่วมในพิธี ณ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกเอสเพส “sPace” ตอบโจทย์และสอดรับกับความต้องการของประเทศ ที่มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสที่ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้พิการจะสามารถได้รับโอกาสที่จะใช้นวัตกรรมคุณภาพและมีความปลอดภัย มีมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งจะช่วยให้บุคคลมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งในภาคระดับนโยบายและระดับปฏิบัติที่จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้พิการได้ยกระดับขึ้น

รองศาสตราจารย์ ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า โครงการดังการได้รับทุนสนับสนุน จาก วช. โดยในปีนี้ วช. ได้มอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก sPace ทั่วประเทศ จำนวน 200 ชุด โดยมอบให้โรงพยาบาลในกรุงเทพ 5 โรงพยาบาล และโรงพยาบาลในต่างจังหวัดได้แก่ ภาคใต้ 7 จังหวัด ภาคเหนือ 2 จังหวัด ภาคอีสาน 3 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 17 โรงพยาบาล ซึ่งเท้าเทียมไดนามิกเอสเพสจะผลิตโดยบริษัท มุทา จำกัด เป็นบริษัทที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ขึ้นทะเบียนสถานประกอบการผลิตและจดแจ้งผลิตภัณฑ์เท้าเทียมไดนามิกกับ อย. สำหรับเท้าเทียมไดนามิก ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีมาก จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 และผ่านการทดสอบตามมาตรการสากล ISO 10328 จากประเทศเยอรมนี และทำการทดลองทางด้านทางด้านคลินิกโดยโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ขณะเดียวกันก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะสามารถรับ Feedback ของผู้พิการที่ได้รับเท้าเทียมไดนามิกในโครงการนี้ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และประเมินผลในประเด็นต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงหรือเพิ่มเติมการออกแบบตามความเหมาะสมต่อไป