นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ในพื้นที่จังหวัดแพร่ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) ได้ทำการศึกษาเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ รวมทั้งสินค้าทางเลือกที่มีศักยภาพสำหรับปรับเปลี่ยนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวเหนียวนาปี โดยผลการศึกษาพบว่า
กลุ่มที่ 1 การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวเหนียวนาปีในพื้นที่เหมาะสมมาก (S1) และ เหมาะสมปานกลาง (S2) ควรส่งเสริมและพัฒนาโดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับคุณภาพสินค้าสู่มาตรฐาน ควบคู่กับการสร้างกลุ่มที่เข้มแข็งและพัฒนาระบบการบริหารจัดการกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ
กลุ่มที่ 2 การผลิตในพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) และ พื้นที่ไม่เหมาะสม (N) ในกรณีที่เกษตรกรสนใจปรับเปลี่ยนการผลิต ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (มีพื้นที่ S3 และ N รวม 305,665 ไร่) พื้นที่อำเภอร้องกวาง อำเภอเมือง และอำเภอลอง พบว่า สามารถปลูกไม้ผลเป็นพืชทางเลือกได้ 2,613 ไร่ และในกรณีเกษตรกรสนใจปรับเปลี่ยนการผลิตข้าวเหนียวนาปี (มีพื้นที่ S3 และ N รวม 63,135 ไร่) ในพื้นที่อำเภอเมืองลอง อำเภอวังชิ้น และอำเภอร้องกวาง จะสามารถปลูกไม้ผลเป็นพืชทางเลือกได้ 16,845 ไร่
สำหรับพืชทางเลือกที่เหมาะในการปรับเปลี่ยน มีจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ แก้วมังกร มีต้นทุนการผลิต 8,449 บาท/ไร่ให้ผลตอบแทนจากการผลิตในปีที่ 3 – 15 ประมาณ 43,014 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 34,564 บาท/ไร่ โดยร้อยละ 90 จำหน่ายให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านถิ่น ซึ่งผลผลิตบางส่วนทางกลุ่มจะนำมาแปรรูปอบแห้ง และส่งให้พ่อค้ารวบรวมนอกพื้นที่ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 เกษตรกรขายเองในตลาดชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีกระแสความต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้นจากกลุ่มผู้รักสุขภาพและความงาม
ส้มเขียวหวาน มีต้นทุนการผลิต 16,392 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนจากการผลิตในปีที่ 4 ประมาณ 23,896 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 7,504 บาท/ไร่ ผลผลิตร้อยละ 70 จำหน่ายให้ผู้รับซื้อในท้องถิ่น โดยจะคัดเกรดเพื่อขายส่งให้กับพ่อค้าส่งต่างจังหวัด จากนั้นจะกระจายต่อไปยังตลาดไทยเจริญ ตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง และ สมุนไพร ได้แก่ ขมิ้นชัน และไพล มีต้นทุนการผลิต 30,166 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนจากการผลิตเมื่ออายุเฉลี่ย 9 – 11 เดือน ประมาณ 72,528 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 42,362 บาท/ไร่ โดยจะเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูแล้ง (ธันวาคม – กุมภาพันธ์) ซึ่งร้อยละ 90 จะจำหน่ายให้กลุ่มวิสาหกิจสมุนไพร เพื่อขายส่งให้กับพ่อค้ารวบรวมในพื้นที่ และส่งต่อไปที่โรงพยาบาลสอง โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเพื่อผลิตยาแผนโบราณรักษาโรค ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและองค์ความรู้ด้านสมุนไพร
ด้านนายบุญลาภ โสวัณณะ ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวเสริมว่า หากในกรณีเกษตรกรไม่ปรับเปลี่ยนการผลิต เนื่องจากมีพื้นที่ทำการเกษตรน้อย และปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน แนวทางการพัฒนา จึงควรมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพดินให้มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อาทิ การตรวจวิเคราะห์ดินรายแปลง การใช้สารปรับปรุงบำรุงดินตามค่าวิเคราะห์ดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แหล่งน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ สศท.2 ได้มีการหารือและรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาดังกล่าว ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคมระดับจังหวัด ซึ่งที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะในประเด็นต่างๆ เช่น การส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ มาตรฐาน GAP แบบครบวงจร เน้นกลุ่มผู้บริโภคตลาดเฉพาะ รูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) การบริหารจัดการสินค้าที่เชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานสอดคล้องทั้งด้านอุปสงค์อุปทาน รวมถึงส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเชิงเศรษฐกิจสร้างสมดุลระบบนิเวศคนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยปลูกพืชที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในแต่ละเดือนได้ อาทิ ถั่วลิสง สมุนไพรต่างๆ ตามความต้องการและความเป็นไปได้ในการผลิตสินค้าชนิดใหม่ที่เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง สำหรับท่านที่สนใจผลการศึกษาเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.2 โทร. 0 5532 2650 และ 0 5532 2658 หรือ อีเมล์ zone2@oae.go.th
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก