วันที่ 12 ก.ค. 62 นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์ภัยแล้งและการเตรียมพร้อมรับมือฝนตกน้อย ณ ห้องประชุม 135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ย้ำแม้จะมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ แต่วอนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด สำรองน้ำไว้ใช้ให้มากที่สุด หลังพบว่าเดือนสิงหาคม-กันยายน มีแนวโน้มที่ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ น้อยตามไปด้วย
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในพี่น้องประชาชน ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยในช่วงฤดูฝนนี้จะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 5-10 ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) ยังได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเกิดภาวะฝนตกน้อยตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆน้อยตามไปด้วย จำเป็นต้องวางแผนใช้น้ำอย่างระมัดระวังตั้งแต่ตอนนี้ นั้น
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปัจจุบัน (11 ก.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 37,018 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ ประมาณ 13,093 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันมากกว่า 38,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสัก-ชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,596 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,900 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง 4 เขื่อนหลัก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 16,200 ล้าน ลบ.ม.
ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงมาตรการในการเตรียมพร้อมรับมือจากสถานการณ์ฝนตกน้อยว่า กรมชลประทาน ได้วางมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ โดยพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกข้าว ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ทำการประชาสัมพันธ์แนะนำให้เกษตรกรทยอยเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่และให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนพื้นที่ที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้ว กรมชลประทาน จะดำเนินการส่งน้ำแบบประณีตด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นการส่งน้ำแบบรอบเวรหมุนเวียนในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อการใช้น้ำของทุกภาคส่วน รวมทั้งขอให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำปิง น่าน และแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ทำการสูบน้ำให้เป็นไปตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังได้วางมาตรการให้ความช่วยเหลือโดยเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำที่พร้อมจะให้การสนับสนุนได้ทันที ที่สำคัญต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ให้มากที่สุด
สำหรับการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน นั้น ที่ผ่านมากรมชลประทาน ได้ดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ อาทิ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ จ.มหาสารคาม ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากห้วยกุดกู่ ผันน้ำไปลงที่ห้วยวังฮาง เพื่อสูบต่อไปยังโรงสูบน้ำดิบของเทศบาลตำบลเมืองบัว ช่วยเหลือการประปาส่วนภูมิภาค อ.เกษตรวิสัย นำไปผลิตน้ำประปา , การติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำบริเวณปลายคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี , การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 30 เครื่อง ช่วยเหลือพื้นที่นาข้าวกว่า 50,000 ไร่ ในเขต อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท , อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อ.บ้านหมี่ อ.ท่าวุ้ง อ.เมือง จ.ลพบุรี และ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา และโครงการชลประทานพัทลุง ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำคลองท่าแนะ อ.ศรีบรรพต เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำใช้ในการเกษตร การอุปโภคบริโภค ในเขตพื้นที่ ต.เขาย่า อ.ศรีบรรพต และ ต.ดอนทราย อ.ควนขนุน เป็นต้น
ในส่วนของกรณีที่แม่น้ำชีบริเวณแพตาพลู ทะเลร้อยเอ็ด และสะพานข้ามแม่น้ำชี บ.วังยาว ต.พลับพลา อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด มีสภาพแห้งขอดจนสามารถเดินข้ามไปอีกฝั่งได้นั้น กรมชลประทาน ได้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาว ผ่านอาคารระบายน้ำลงลำน้ำเดิม (River Outlet) เป็นวันละ 0.80 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. 62 เป็นต้นมาจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ พร้อมกันนี้ ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนร้อยเอ็ด จากวันละ 0.26 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 0.35 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วานนี้ (11 ก.ค. 62) คาดว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีจะเริ่มดีขึ้นโดยลำดับในระยะต่อไป ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำความเข้าใจและขอความร่วมมือเกษตรกรให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคให้มากที่สุด รวมถึงได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือได้ทันทีอีกด้วย
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน