ส่งออกเดือน มิ.ย. ติดลบ 6.4% คาดครึ่งปีหลังเผชิญความไม่แน่นอน จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

Key Highlights

  • ส่งออกเดือน มิ.ย. หดตัว 6.4%YoY ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง โดยการส่งออกสินค้าหมวดอุตสาหกรรมกลับมาหดตัว ขณะที่การส่งออกหมวดเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่อง สำหรับการนำเข้าหดตัวมากขึ้นที่ -3% ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน มิ.ย. กลับมาเกินดุลที่ระดับ 57.7 ล้านดอลลาร์ฯ
  • Krungthai COMPASS ประเมินว่าผู้ส่งออกยังคงเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนในช่วงครึ่งปีหลัง ภาคการผลิตของประเทศตลาดหลักยังอยู่ในทิศทางชะลอตัวโดยเฉพาะยุโรป สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อหดตัวต่อเนื่อง และเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าคาด ส่งผลให้การส่งออกของไทยอาจฟื้นตัวได้อย่างจำกัด สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกของภูมิภาคที่ยังหดตัวต่อเนื่อง

มูลค่าส่งออกเดือนมิถุนายน 2566 หดตัว 6.4%

มูลค่าส่งออกเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 24,826.0 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว 6.4%YoY เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 แต่หดตัวน้อยกว่าตลาดคาดการณ์ที่ -7.3% โดยการส่งออกหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความต้องการสินค้าลดลงและภาคธุรกิจเร่งระบายสินค้าคงคลังมากขึ้น สำหรับการส่งออกทองคำเดือนนี้หดตัว 65.9% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้ติดลบ 5.1%YoY ทั้งนี้ การส่งออก 6 เดือนแรกหดตัว 5.4%

ด้านการส่งออกรายสินค้าส่วนใหญ่หดตัว

  • การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวที่ -4.6%YoY หลังจากขยายตัวเมื่อเดือนก่อนหน้าที่
    5%YoY
    จากการหดตัวของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (-21.7%) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (-20.1%) เคมีภัณฑ์ (-14.3%) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (-9.0%) เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (+7.2%) แผงวงจรไฟฟ้า (+5.3%) อัญมณีและเครื่องประดับ ที่ไม่รวมทองคำ (+31.2%) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (+68.7%) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+46.8%) และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง (+30.3%) เป็นต้น
  • การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -8.6%YoY จากเดือนก่อนที่หดตัว -16.3%YoY จากสินค้าหมวดเกษตรและหมวดอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง -7.4%YoY และ -10.2%YoY ตามลำดับ โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว (-15.0%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-16.7%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-16.7%) ยางพารา (-43.0%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (-22.5%) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (-80.8%) เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง (+14.2%) น้ำตาลทราย (+4%) เครื่องดื่ม (+8.3%) ไก่สด/แช่เย็น/แช่แข็ง (+10.7%) และไอศกรีม (+11.3%) เป็นต้น

ด้านการส่งออกรายตลาดบางส่วนยังหดตัว

  • สหรัฐฯ : กลับมาหดตัวที่ -4.8%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบเป็นต้น (ส่งออก 6 เดือนแรกหดตัว 6%)
  • จีน : กลับมาขยายตัวที่ 4.5%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง เครื่องยนต์สันดาปภายใน และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น สำหรับสินค้าที่หดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น (ส่งออก 6 เดือนแรกหดตัว 7%)
  • ญี่ปุ่น : กลับมาขยายตัวที่ 6%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับสินค้าที่หดตัว เช่น ไก่แปรรูป ทองแดงและของทำด้วยทองแดง และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น (ส่งออก 6 เดือนแรกหดตัว 1.3%)
  • EU27 : กลับมาหดตัวที่ -9.0%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น (ส่งออก 6 เดือนแรกหดตัว 4%)
  • ASEAN5 : กลับมาหดตัวที่ -18.0%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ข้าว และ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออก 6 เดือนแรกหดตัว 5%)

มูลค่าการนำเข้าเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 24,768.4 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว 10.3%YoY หดตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัว 3.2%YoY ตามการหดตัวของสินค้าเชื้อเพลิง (-17.9%YoY) จากผลของฐานราคาพลังงานที่สูงในปีก่อน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-14.5%YoY) สินค้าอุปโภคบริโภค (-2.6%YoY) และสินค้าทุน (-1.7%YoY) ขณะที่การนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งขยายตัวต่อเนื่อง (+10.3%YoY) ด้านดุลการค้าเดือน มิ.ย. กลับมาเกินดุลเล็กน้อยที่ระดับ 57.7 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับดุลการค้า 6 เดือนแรกขาดดุลสะสม -6,307.6 ล้านดอลลาร์ฯ

Implication:

  • Krungthai COMPASS ประเมินว่าผู้ส่งออกจะยังเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะกลับมาขยายตัวได้ หลังจากที่หดตัว 5.4%YoY ในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขในครึ่งปีหลังจะกลับมาเป็นบวกจากผลของฐานปีก่อนที่ต่ำลง แต่มูลค่าการส่งออกต่อเดือนอาจฟื้นตัวได้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มชะลอตัวท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Manufacturing PMI) ยังอยู่ในระดับหดตัวต่อเนื่อง อีกทั้งเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัวช้ากว่าคาด ส่งผลให้การฟื้นตัวของอุปสงค์โลกในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกของภูมิภาคที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และข้อมูลเร็วการส่งออกของเกาหลีใต้เดือน ก.ค. 20 วันแรกยังหดตัวสูงถึง -16.5%YoY สะท้อนถึงอุปสงค์โลกยังอ่อนแอ