วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ภาคใต้ “สานศิลป์ แดนดินใต้ เทิดไท้องค์ราชัน” โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ศิลปินแห่งชาติ วัฒนธรรมจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ หน่วยงานในสังกัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาวัฒนธรรม ศิลปินพื้นบ้าน เครือข่ายทางวัฒนธรรม นักท่องเที่ยว เยาวชน สื่อมวลชนและประชาชน เข้าร่วม ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 กรกฎาคม 2566
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566 ให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานราก ในระดับชุมชนและท้องถิ่น สนับสนุนนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ของรัฐบาล รวมทั้งผลักดัน “Soft Power” เพื่อส่งเสริมความเป็นไทย และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การนำคุณค่าของทุนทางวัฒนธรรม มาต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการในรูปแบบของผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย หรือ CPOT และผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย หรือ CCPOT นอกจากนี้ ยังส่งเสริม สืบทอด สนับสนุน และเปิดพื้นที่ให้ศิลปิน ศิลปินพื้นบ้าน ผู้ประกอบการสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ได้มีโอกาสถ่ายทอดการแสดงศิลปวัฒนธรรม และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นคุณค่า และภาคภูมิใจในความเป็นไทย รวมทั้งผลักดันให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และวิถีชุมชน
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566 ขบวนนางรำเฉลิมพระเกียรติ โดยกลุ่มพัฒนาสตรีจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 500 คน ตระการตาไปกับการแสดง ชุด สานศิลป์ แดนดินใต้ เทิดไท้องค์ราชัน โดย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) ประจำปี พ.ศ. 2564 และครูควน ทวนยก ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ประจำปี พ.ศ. 2553 ร่วมการแสดงในพิธีเปิดงาน พบกับนิทรรศการองค์ความรู้ ได้แก่นิทรรศการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (มวยไทยและโนรา)
โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมชมวีดิทัศน์สารคดี เรื่อง “โนราสายขุน” , นิทรรศการ “ศิลป์สร้างสุขสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม จาก 14 จังหวัดภาคใต้ อาทิ การแสดงมโนราห์เฉลิมพระเกียรติ, การแสดงฉายานาฏกะ, การแสดงคณะเต็งสาคอซีละ, หนังตะลุง คณะวีระลูกทุ่งบันเทิง, การแสดงเรือถ่อบ้านในรักษ์, การแสดงพื้นบ้านระบำร่อนแร่, การแสดงรองเง็ง, การแสดงนาฏโกลา, การแสดงมโนราห์ฟ้าใส, การแสดงระบำดาระ คณะสืบสานศิลปะพื้นบ้าน, การแสดงลวดลายผ้าโนราสู่สากล, การแสดงครอบครัวสีละซือนีฆายง นายมูฮำหมัด, การแสดงกลองบานอร่วมสมัย และการแสดงโนราโกลน คณะสามสลึงตำลึงทอง และยังมีการแสดงโขน โดย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การแสดงศิลปินพื้นบ้านภาคใต้ การแสดงดุริยางค์สากล การแสดงของเด็กและเยาวชน โดย จังหวัดสุราษฎร์ธานี การแสดงจากสหพันธ์สมาคมโนราแห่งประเทศไทย และพบกับการแสดงทางวัฒนธรรมอีกมากมายตลอด 5 วัน โดยการแสดงโขนและโนราเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีตลาดวัฒนธรรม การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรม CPOT และสินค้าอัตลักษณ์จาก 14 จังหวัดในภาคใต้ อาทิ ผลิตภัณฑ์จากลูกปัดโนรา ผ้าพิมพ์ลายเมืองชัยบุรี ผ้าสีมายา ผ้ายกเมืองนคร ผ้าปาเต๊ะ กระเป๋าใยตาล ชุดบาบ๋า ย่าหยา พร้อมกับชิมอาหารพื้นถิ่นใต้ 14 จังหวัด อาทิ หมี่กะทิ ไก่ฆอและ แกงมัสมั่นไก่ นาซิดาแฆ โอ้เอ๋ว และอาหารพื้นถิ่นที่น่าสนใจอีกมากมาย การจำหน่ายสินค้าอัตลักษณ์ภาคใต้ อาหารทะเล และสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) จัดโดย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี และยังมีกิจกรรมการเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “สายธารวัฒนธรรมศรีวิชัย จากอดีตสู่ปัจจุบัน” โดย กรมศิลปากร ในวันที่ 27 – 28 กรกฎาคม 2566 ณ อาคาร 100 ปี หอประชุมครูลำยอง โรงเรียนสุราษฎร์ธานี
นายอิทธิพล กล่าวปิดท้ายว่า ในนามกระทรวงวัฒนธรรมขอขอบคุณในความความมุ่งมั่น ทุ่มเทและความร่วมมือ ร่วมใจ ของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงศิลปินพื้นบ้าน เครือข่ายทางวัฒนธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพี่น้องชาวภาคใต้ทุกท่าน ที่มีส่วนสำคัญในการจัดงานครั้งนี้ เพราะทุกท่านคือเจ้าของวัฒนธรรมที่แท้จริง และได้ทำหน้าที่นำเสนอมรดกภูมิปัญญา และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น อันเป็นความภาคภูมิใจ ให้ประจักษ์สู่สาธารณชน ถือเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ
โดยใช้มิติทางวัฒนธรรมเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ และนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจตามแนวพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดศิลปวัฒนธรรมของชาติเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับศิลปิน เครือข่ายทางวัฒนธรรม ผู้ประกอบการสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่น ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง เสริมฐานรากทางวัฒนธรรมให้เกิดความเข้มแข็ง และยกระดับการจัดงานในระดับท้องถิ่นให้เป็นงานระดับชาติ