“ต้องมนต์คนรักภาษาไทย” คว้าแชมป์เพลงแรป “มนต์รักษ์ภาษาไทย” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ สื่อถึงคุณค่าภาษาไทย 

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ดำเนินการจัดงานเนื่องใน วันภาษาไทยแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อน้อมนำพระบรมราโชบายและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงงาน เพื่อสืบสาน รักษาและต่อยอดแนวพระราชดำริ ด้านภาษาไทยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมถึงเพื่อกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน และประชาชนชาวไทย ตลอดจนสถาบันการศึกษา องค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตระหนักในความสำคัญของภาษาไทยและใช้ให้ถูกต้อง ร่วมทั้งอนุรักษ์ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติให้งดงามอย่างยั่งยืน

นางยุพา กล่าวต่อไปว่า ในโอกาสนี้ทาง วธ. ได้จัดกิจกรรมการประกวดสื่อสร้างสรรค์ หัวข้อ “มนต์รักษ์ภาษาไทย” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 ในรูปแบบคลิปวิดีโอเพลงแรป ต่อเนื่องเป็นปีที่ ๒ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้เด็กและเยาวชนได้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และถ่ายทอดความงดงามของภาษาไทยซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติผ่านสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งเปิดรับสมัครเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 25 ปี ในนามบุคคล หรือทีม ๆ ละไม่เกิน 3 คน และให้ส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2566 มีผลงานเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 141 ผลงาน

ปลัด วธ.กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ คณะกรรมการตัดสินการประกวดได้พิจารณาตัดสินผลงานให้ได้รับรางวัลเรียบร้อยแล้ว จำนวน 5 ผลงาน ได้แก่ เพลง “ต้องมนต์คนรักภาษาไทย” ผลงานทีมเด็กรักษ์ไทย คว้ารางวัลชนะเลิศ ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ อันดับหนึ่ง ได้แก่ เพลง “รักข้ามสมัย” ผลงานทีม AYS Production รางวัลรองชนะเลิศ อันดับสอง ได้แก่ เพลง “ไทย Long Time” ผลงานทีม T.N. Entertainment และรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ เพลง “ทบทวน” ผลงานทีม Hellobobby และเพลง “ภูมิใจในภาษาไทย” ผลงานทีม GREBEL โดยผลงานที่ได้รับรางวัลมีเนื้อหาสื่อถึงคุณค่า ความสำคัญของภาษาไทย ส่งเสริม อนุรักษ์ สืบสานและถ่ายทอดภาษาไทย ซึ่งทุกรางวัลจะได้รับโล่รางวัลนายกรัฐมนตรีและเกียรติบัตรจาก วธ. ทั้งนี้ วธ. จะมีการมอบโล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล ให้กับผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งหมด พร้อมกับรางวัลด้านภาษาไทยอื่นๆ ในวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2566 ณ หอประชุมใหม่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ปลัด วธ. กล่าวด้วยว่า นับว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ในการนำศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมาเป็นสื่อในการถ่ายทอดคุณค่าและความงามของภาษาไทย โดยการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ต้องขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับเด็กและเยาวชนที่ได้รับรางวัล ถือเป็นส่วนสำคัญของประเทศที่ช่วยขับเคลื่อนเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการแสดงทักษะความรู้ ความสามารถด้านภาษาไทย ให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับประเทศ จึงขอเชิญชวนทุกคนรับชมผลงานสื่อสร้างสรรค์ได้ที่ YouTube-Channel ช่อง Culture-Surveillance Bureau และ Facebook Fanpage “กองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม” และช่องทางต่าง ๆ ของ วธ.https://www.youtube.com/playlist?list=PLBjrObEn12Hcj6YemjbHl3EbQs2qAx-DS