กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มอบรางวัล DBD – Logistics Management Award ประจำปี 2562 จำนวน 71 ราย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในระดับสากล และเตรียมพร้อมรับมือกับการเข้ามาของโลจิสติกส์ต่างชาติ รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดในโลก Digital Disruption
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มีบริษัทให้บริการโลจิสติกส์ต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยต้องเร่งพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการแก่ลูกค้า ตลอดจนนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในระบบการบริหารจัดการของธุรกิจให้มีมาตรฐานทัดเทียมระดับสากล และเป็นที่ยอมรับจากผู้ใช้บริการอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ
การพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจแก่ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของไทยให้มีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ทุกตลาดเป็นสิ่งที่กรมฯ ตระหนักถึงและให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของไทยมีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเทียบเท่าระดับสากล ซึ่งที่ผ่านมามีธุรกิจที่ได้รับการพัฒนาระบบบริหารจัดการและสามารถเข้าสู่มาตรฐาน ISO 9001 แล้วจำนวน 530 ราย แบ่งเป็น 1.ขนส่งสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่ง จำนวน 357 ราย (คิดเป็นร้อยละ 67) 2.บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ จำนวน 74 ราย (คิดเป็นร้อยละ 14) 3.ตัวแทนออกของรับอนุญาต จำนวน 53 ราย (คิดเป็นร้อยละ 10) 4.บริการโลจิสติกส์ครบวงจรและอื่นๆ จำนวน 17 ราย (คิดเป็นร้อยละ 3) และ 5.คลังสินค้า จำนวน 29 ราย (คิดเป็นร้อยละ 6) โดยในปีนี้ (ปี 2562) กรมฯ สามารถผลักดันธุรกิจเข้าสู่มาตรฐานฯ ได้เพิ่มขึ้นอีก จำนวน 71 ราย
สำหรับการยกระดับธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์สู่มาตรฐานสากล ISO 9001 ถือเป็นมาตรฐานระบบบริหารจัดการคุณภาพที่เป็นพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจทั่วไป ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเห็นว่าธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ควรมีการพัฒนามาตรฐานด้านอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ISO 39001 ระบบการจัดการความปลอดภัยทางถนน รวมถึงการยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์สู่มาตรฐาน AEO (Authorized Economic Operator) ตลอดจนการสร้างเครือข่ายผ่านระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange System : EDI) เป็นต้น
อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับธุรกิจทุกประเภท การพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการด้านต่างๆ ตลอดจนการนำเครื่องมือดิจิทัลที่ทันสมัยเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน สามารถสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนและความแตกต่างให้เหนือคู่แข่ง ทำให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายของธุรกิจโลจิสติกส์โลกอนาคต…ในยุคไทยแลนด์ 4.0”
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2562) นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์มีจำนวน 25,837 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2561 (24,091 ราย) จำนวน 1,746 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.24 และมีทุนจดทะเบียนรวม 322,523.03 ล้านบาท โดยธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ที่มีการจดทะเบียนสูงสุด 3 ลำดับ ได้แก่ การขนส่งทางบกและระบบท่อลำเลียง 18,494 ราย (คิดเป็นร้อยละ 71.5) ตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและตัวแทนออกของ 3,719 ราย (คิดเป็นร้อยละ 14.4) และการบริหารจัดการเกี่ยวกับสินค้า (จัดการด้านการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า บริการบรรจุหีบห่อเพื่อการขนส่ง) 1,191 ราย (คิดเป็นร้อยละ 4.6)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจโลจิสติกส์ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570, โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5955 ,e-Mail : logisticsdbd@gmail.com และ www.dbd.go.th
ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ