โครงการขุดลอกร่องลำน้ำสาธารณะ บ้านงาแม่ หมู่ที่ 4 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – social Map)

วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.30 น. นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี เปิดโครงการขุดลอกร่องลำน้ำสาธารณะ บ้านงาแม่ หมู่ที่ 4 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ตามแผนงานการพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – social Map)

นำโดย นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน อาสาสมัคร ผู้นำชุมชน ร่วมกิจกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ผู้นำชุมชน องค์กรภาคเอกชน ส่วนราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ผังภูมิสังคม เป็นผังที่แสดงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ในเชิงกายภาพและสังคมวิทยา ซึ่งจัดทำขึ้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ การพัฒนาโดยยึดหลักภูมิสังคมนี้ คือ หลักสำคัญยิ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นกระบวนการที่หน่วยงานภาครัฐ เข้าไปแนะนำเข้าไปช่วยอธิบายให้คนในพื้นที่เข้าใจสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ แล้วให้คนในพื้นที่ช่วยกันคิดช่วยกันดูว่าต้องการอะไรจริงๆ และให้เขาเขียนบันทึกลงในผังภูมิสังคมเพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้วางแผนงานโครงการและกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในลักษณะภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนา และเกิดการรักษาให้ยั่งยืน เนื่องจากเป็นโครงการและกิจกรรมที่ตนมีส่วนร่วม และได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้มอบนโยบายให้ส่วนราชการ มีการวางแผนการพัฒนาพื้นที่เป็นแบบแผนเดียวกัน (ONE PLAN) โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปัตตานี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น จิตอาสาพระราชทาน อาสาสมัครและผู้นำชุมชน หัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงมหาดไทยระดับจังหวัด องค์กรภาคีเครือข่ายในระดับอำเภอรวมประมาณ 200 คน ดำเนินการจัดทำผังภูมิสังคม

โดยในโครงการได้ขุดลอกร่องน้ำสาธารณะเพื่อระบายน้ำครั้งนี้แบ่งออกเป็นการขุดลอกร่องน้ำกว้าง 1.50 – 3.00 เมตร ระยะทางประมาณ 1,059 เมตร ปริมาตรดินที่ขุดลอกประมาณ 2,153 ลูกบาศก์เมตร วางท่อลอด คสล. ขนาด 0.80 เมตร ยาว 8.00 เมตร จำนวน 4 เมตร รวมจำนวน 32 ท่อนและวางท่อลอด คสล. ขนาด 0.60 เมตร ยาว 8.00 เมตร จำนวน 8 ท่อน โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรในการขุดลอกร่องน้ำสาธารณะจากภาคเอกชน โดยการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวได้แก้ปัญหาน้ำท่วม บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และยังเกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ผู้นำชุมชน องค์กรภาคเอกชน ส่วนราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต่อไป