ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ประจำปี 2561 และรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย ครม. รับทราบและมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๑๗ หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นำไปพิจารณาดำเนินการและแจ้งให้ กสม. ทราบ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 นั้น
ต่อมาหน่วยงานดังกล่าวข้างต้นเห็นชอบต่อรายงานทั้ง 2 ฉบับ พร้อมทั้งแจ้งผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะไปยัง ครม. โดย ครม.มีมติแจ้งกลับมายัง กสม. ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจจากหน่วยงานต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
กระทรวงกลาโหม ดำเนินงานด้านสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาพรวมมีพัฒนาการในทางที่ดี ซึ่งเห็นได้จากการลดลงของจำนวนเหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บจากการก่อความไม่สงบ รวมทั้งมีโครงการส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนในพื้นที่ และโครงการที่เปิดโอกาสให้บุคคลที่หลงผิดกลับมาพัฒนาประเทศ โดยกระทรวงกลาโหมได้เสนอให้พิจารณาเพิ่มเติมเรื่องความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนานาประทศ
กระทรวงการคลัง แจ้งว่าสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจได้จัดทำร่างหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ซึ่งร่างหลักการดังกล่าวได้ให้ความสำคัญในบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แจ้งว่าได้ดำเนินการโครงการส่งเสริมพัฒนาความรู้ความเข้าใจในด้านการใช้สื่อดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ เป็นการสร้างความตระหนักรู้ในสิทธิของตนเองในการแสดงความคิดเห็นเพื่อใช้สื่อดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอแนะให้พิจารณาแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหา “สิทธิชุมชน” ของประเทศไทย ให้เป็นสากลสอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ
กระทรวงพาณิชย์ เสนอแนะในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนว่า ควรมีกลไกกำกับดูแลการลงทุนในลักษณะข้ามชาติให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งในกรณีธุรกิจข้ามชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และผู้ลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ
กระทรวงมหาดไทย แจ้งว่าได้ดำเนินงานประเด็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์ คนไร้รัฐ และไร้สัญชาติที่เกี่ยวข้องโดยการแก้ไขกฎหมายและระเบียบการทะเบียนราษฎร (พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551) และมีข้อคิดเห็นต่อรายงานว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการจดทะเบียนคนเกิด โดยดำเนินการจดทะเบียนคนเกิดให้กับเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยและไม่เลือกปฏิบัติจนนำไปสู่การถอนข้อสงวนต่อข้อ 7 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และจะนำข้อเสนอแนะจากรายงานผลการประเมินสถานการณ์ฯ ของ กสม. มาพัฒนา ปรับปรุง แก้ไข ระเบียบ กฎหมาย รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
กระทรวงยุติธรรม ชี้แจงการดำเนินงานใน 7 ประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) การปรับปรุงแนวทางการบังคับใช้โทษประหารชีวิตของประเทศไทย 2) การกระทำทรมานและการบังคับสูญหาย 3) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ 4) สิทธิด้านการศึกษา 5) สิทธิด้านสุขภาพในเรือนจำ 6) ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในเรื่องการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน ๗) สิทธิมนุษยชนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ในส่วนที่เป็นเรื่องที่อยู่ในความห่วงใย ได้แก่ ประเด็นสิทธิมนุษยชนในการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ประเด็นสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประเด็นการค้ามนุษย์ นั้น แจ้งว่าได้มีข้อเสนอแนะในประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ กรณีการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ หรือ SLAPP และประเด็นสิทธิมนุษยชนในการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมนั้น ควรมีการจัดสมดุลระหว่างการเรียกร้องสิทธิและการคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน โดยจะต้องมีการย้ำเตือนให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความเข้าใจการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน
กระทรวงแรงงาน แจ้งว่าได้ดำเนินงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน เช่น ความเท่าเทียมกันในเรื่องอัตราค่าจ้างระหว่างแรงงานในประเทศกับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว และกัมพูชา) ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของแรงงานไทยกับแรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองเท่าเทียมกัน โดยรัฐบาลได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เรื่อง การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก แรงงานสตรี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานปี พ.ศ. 2541 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ตลอดจนการมุ่งให้แรงงานนอกระบบและแรงงานสูงอายุเข้าสู่ระบบประกันสังคม
กระทรวงศึกษาธิการ แจ้งว่าดำเนินงานขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ตลอดจนดำเนินนโยบายที่สนับสนุนและส่งเสริมการสร้างความตระหนัก จิตสำนึกในสิทธิ หน้าที่ และการเคารพผู้อื่น การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งในด้านการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาและคุณภาพการศึกษา พร้อมกับการปรับปรุงและแก้ไขข้อขัดข้องต่าง ๆ มีผลสำเร็จที่สำคัญ เช่น การพัฒนาสถานศึกษาเพื่อสร้างโอกาสแก่เด็กและเยาวชนในโครงการโรงเรียนประชารัฐ โครงการติวฟรีดอทคอม การนำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสู่โรงเรียน การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เป็นต้น
กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่ามีการดำเนินการเป็นรูปธรรมแล้ว เช่น การจัดทำพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ พ.ศ. 2561 การดำเนินงานเขตสุขภาพพิเศษ ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการจัดบริการสาธารณสุขทุกพื้นที่ และการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนวทางประชารัฐ การดูแลสุขภาพให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรในเขตสุขภาพพิเศษ เช่น กลุ่มพื้นที่ชายแดน กลุ่มทุรกันดาร และกลุ่มพื้นที่สูง เป็นต้น
กระทรวงอุตสาหกรรม แจ้งว่าได้นำรายงานไปใช้เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ในการวางแผนการปฏิบัติงานให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีการดำเนินการตามมาตรการและแนวทางแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลสถานประกอบการให้ประกอบกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชน
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ข้อห่วงกังวล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะของ กสม. ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้แก่ สถานการณ์และปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ปัญหาสถานะและสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและการป้องกันการกระทำทรมานและบังคับสูญหาย
สำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นสอดคล้องกับความเห็นของ กสม. ใน ๒ ประเด็น ได้แก่ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม และการกระทำทรมานและการบังคับสูญหาย ซึ่งร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ควรมีเนื้อหาสอดคล้องกับอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ได้จัดทำแผนปฏิรูปองค์กรสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ. 2562 – 2566 เพื่อเป็นกรอบในการปฏิรูปด้านโครงสร้างและระบบบริหารจัดการของสำนักงาน เช่น ยกระดับบทบาทในการอำนวยความยุติธรรมด้วยการบูรณาการกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบได้อย่างแท้จริง และรักษาผลประโยชน์ของรัฐและคุ้มครองสิทธิของประชาชนอย่างมืออาชีพจนเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากประชาชน สำหรับประเด็นที่อยู่ในความห่วงใยเรื่องการค้ามนุษย์ นั้น ได้ถือเป็นคดีสำคัญที่รัฐมีนโยบายป้องกันและปราบปรามเป็นกรณีพิเศษ และประเด็นสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นควรให้มีการนำกระบวนการยุติธรรมทางเลือกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งควรสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักกฎหมายอิสลามรวมทั้งวิถีมุสลิมรวมทั้งวิถีมุสลิมแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
ทั้งนี้ กสม. จะได้ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานต่อไป และสามารถอ่านรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ประจำปี 2561 ได้ที่ https://bit.ly/30man4C และรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้ที่ https://bit.ly/2JlAD9V
เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
11 กรกฎาคม 2562