กระทรวงสาธารณสุข มีระบบความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกระดับ ทั้งการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และการสอบสวนโรค ร่วมกับภาคีเครือข่ายเข้มข้น “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย” โดยเฉพาะร้านอาหารและสตรีทฟู้ด ในเมืองท่องเที่ยว
วันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย พร้อมด้วยผู้บริหารกรมควบคุมโรค กรมอนามัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เข้มข้นมาตรการระบบความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) ว่า จากกรณีที่มีรายงานข่าวชาวต่างชาติ 2 รายป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ จากการรับประทานอาหารในประเทศไทย เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานั้น ได้เชิญอธิบดีและผู้เชี่ยวชาญของกรมที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหาเท็จจริงกรณีนี้ ซึ่งกรมควบคุมโรคและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตได้ลงสอบสวนโรคในร้านอาหารตามที่ข่าวอ้างถึง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว
นายแพทย์สุขุม กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีระบบการดำเนินงานความปลอดภัยด้านอาหารอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในทุกระดับ โดยมีระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค การสอบสวนโรค บูรณาการความร่วมมือทั้งกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย รวมทั้งประสานความร่วมมือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ในการดูแลเกี่ยวกับอาหารนำเข้า ส่งออก อาหารที่บริโภคภายในประเทศ และร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูแลมาตรฐานร้านอาหาร ตามมาตรฐาน อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean food Good taste) ในร้านอาหารและสตรีทฟู้ด เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัยจากการปนเปื้อน
จากข้อมูลเฝ้าระวังทั้งกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และข้อมูลทางห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ยังไม่พบว่ามีรายงานการตรวจพบเชื้อปรสิต ไดเอนตามีบา ฟราจิลิส (Dientamoeba fragillis) ในผู้ป่วยในประเทศไทย ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งเข้มงวดมาตรการอาหารปลอดภัย และมอบหมายให้กรมควบคุมโรคเป็นผู้ประสานงานกรณีดังกล่าว
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005) โดยประสานไปยังสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักเรื่องอาหารปลอดภัย เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ประสานไปยังเครือข่ายระหว่างประเทศ และประชุมหารือผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเชื้อโรคตามที่ถูกอ้างถึงในข่าวเป็นโปรโตซัวในลำไส้สกุลหนึ่ง เชื้อจะไม่ทนต่อความร้อน ใช้ความร้อนประมาณ 60 – 80 องศาเซลเซียส นาน 1 – 2 นาที สามารถฆ่าเชื้อโรคที่มีอยู่ได้ อาหารที่ปรุงให้สุกด้วยความร้อน จึงไม่น่าจะใช่สาเหตุดังกล่าว โรคนี้ติดต่อจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อที่มากับอุจจาระ ผู้ติดเชื้อจะมีอาการแตกต่างกันในแต่ละคน อาทิ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด อาเจียน เบื่ออาหาร แต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
ด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มีกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 โดยการควบคุม กำกับ ติดตาม มาตรฐานการรับรองคุณภาพสถานที่จำหน่ายอาหารในระดับท้องถิ่นและจังหวัด ครอบคลุมใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. การควบคุมสุขลักษณะสถานที่ตั้งแต่จุดเตรียมอาหาร ปรุง ประกอบ จำหน่าย และล้างภาชนะ อุปกรณ์ 2.ควบคุมการปรุงประกอบและจำหน่ายอาหารให้ถูกสุขลักษณะ 3.ควบคุมดูแลภาชนะอุปกรณ์และเครื่องใช้อื่น ๆ ให้สะอาด และ 4. ควบคุมสุขลักษณะผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารให้มีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดี ซึ่งต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรสุขาภิบาลอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ภาพรวมประเทศไทยในปี 2561 มีสถานที่จำหน่ายอาหารผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) ร้อยละ 85 และในส่วนของจังหวัดภูเก็ตมีสถานที่จำหน่ายผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ในปี 2560 – 2561 ร้อยละ 93 ถือเป็นจังหวัดชั้นนำได้มีแผนการขับเคลื่อนความปลอดภัยอาหารและการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารอย่างครอบคลุม
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีระบบควบคุมมาตรฐานห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ มีการตรวจหาเชื้อที่ปนเปื้อนในอาหารที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วง ทั้งไวรัส แบคทีเรีย เช่น โรโนไวรัส โรต้าไวรัส คลอริฟอร์ม ซัลโมแนลลา ชิเกลลา รวมทั้งเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงของประเทศ โดย 20 ปีที่ผ่านมา ไม่มีรายงานการตรวจพบเชื้อปรสิตตัวนี้ในห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ