กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการดำเนินงานอำเภออนามัยการเจริญพันธุ์ล่าสุด จำนวน 724 อำเภอ จับมือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
วันที่ 11 กรกฎาคม 2562 แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน เปิดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท 11 กรุงเทพมหานคร ว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาสำคัญที่หลายประเทศเผชิญอยู่ องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้การลดอัตราคลอดในวัยรุ่น เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพและมีสุขภาวะที่ดี ทุกเพศ ทุกวัย ภายในปี 2573 ซึ่งการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพของแม่และเด็กแล้ว ยังส่งผลให้วัยรุ่นเสียโอกาสทางการศึกษา ไม่มีงานทำ มีการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย เด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่นบางส่วนถูกทอดทิ้ง และบางส่วนเติบโตอย่างไม่มีคุณภาพ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศไทย ได้มีพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 เพื่อคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ในกลุ่มวัยรุ่น ได้แก่ สิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง สิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ การได้รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว ได้รับการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ที่จำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมร่วมกันขับเคลื่อน การดำเนินงานตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อบูรณาการให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นรูปธรรมมีความ เป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ได้แก่ โครงการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับท้องถิ่นที่มีการดำเนินงานภายใต้กลไกระดับอำเภอ ในการการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านอำเภออนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งปัจจุบัน มีอำเภออนามัยการเจริญพันธุ์ที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จำนวน 724 อำเภอ และมีจังหวัดที่ดำเนินงานครอบคลุมทุกอำเภอ จำนวน 35 จังหวัดที่ดำเนินงานเรื่องเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ในวัยรุ่นและเยาวชน โดยบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรพื้นที่ ทั้งสถานบริการสาธารณสุข สถานศึกษา ครอบครัวและชุมชน โดยมีแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องและมีเอกภาพ เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นและเยาวชน มีพฤติกรรมอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เหมาะสม และป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและเยาวชนอย่างครอบคลุม” แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในครั้งนี้ ถือเป็นสร้างขวัญกำลังใจให้กับหน่วยงานในการขับเคลื่อน และขยายผลการดำเนินงาน รวมทั้งเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับท้องถิ่น ส่งเสริมและเสริมพลังภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ ท้องถิ่น และชุมชน มีแนวทางการทำงานร่วมกัน ที่กำหนดบทบาทหน้าที่ ให้ราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้วัยรุ่นในเขตราชการส่วนท้องถิ่นได้รับสิทธิตามมาตรา 5 เพื่อเป็นการสนับสนุนให้พื้นที่มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับท้องถิ่น การส่งเสริมและเสริมพลังภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ ท้องถิ่น และชุมชน มีแนวทางการทำงานร่วมกันเกิดการบูรณาการ การทำงาน โดยมี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับคัดเลือกเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัด ปี 2562 จำนวน 96 แห่ง
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 11 กรกฎาคม 2562