กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาบริการสุขภาพเชื่อมโยงจากระดับปฐมภูมิถึงศูนย์เชี่ยวชาญการแพทย์ 19 สาขาไร้รอยต่อทุกเขตสุขภาพ ดูแลประชาชนใกล้บ้าน สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพในพื้นที่ ลดเหลื่อมล้ำ ลดรอคอย ลดความแออัด และลดค่าใช้จ่าย
วันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan Sharing) ปี 2562 ภายใต้แนวคิด “ก้าวเปลี่ยนสู่ความยั่งยืน ของระบบสุขภาพไทย” ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ทุกเขตสุขภาพ พัฒนาระบบบริการที่เชื่อมโยงจากระดับปฐมภูมิจนถึงศูนย์เชี่ยวชาญที่ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูง ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพใกล้บ้าน แบบไร้รอยต่อ ลดความเหลื่อมล้ำ ได้รับบริการที่รวดเร็วภายในเขตสุขภาพหรือในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อลดอัตราป่วย อัตราตาย ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
นายแพทย์ประพนธ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ทุกเขตสุขภาพมีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพทั้ง 19 สาขาอย่างต่อเนื่อง อาทิ สาขาโรคหัวใจ มีศูนย์เชี่ยวชาญโรคหัวใจ สามารถตรวจสวนหัวใจและขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน 27 แห่ง และสามารถผ่าตัดหัวใจแบบเปิดได้ 26 แห่ง โรงพยาบาลที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ 787 แห่ง และตั้งหน่วยดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านลิ่มเลือดวาร์ฟาริน 690 แห่ง สาขาโรคมะเร็ง สามารถให้บริการด้านรังสีรักษาผู้ป่วยได้ใน 9 โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ สาขาสุขภาพจิตและจิตเวช เพิ่มการเข้าถึงบริการในโรคซึมเศร้าได้ถึงร้อยละ 65.17 สาขาออร์โธปิดิกส์ ให้บริการผ่าตัดผู้ป่วยที่กระดูกหักได้ภายใน 6 ชั่วโมง และผ่าตัดผู้ที่กระดูกต้นขาหักภายใน 72 ชั่วโมง สาขาตา จัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญด้านจอตา และศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตาครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ และคัดกรองผู้ป่วยต้อกระจกชนิดบอดให้ได้รับการผ่าตัดภายใน 30 วัน ร้อยละ 83.42 สาขาไต ให้บริการคลินิกโรคไตเรื้อรัง (CKD) ในโรงพยาบาลทุกระดับเชื่อมโยงกับคลินิกหมอครอบครัว (PCC)
“ความท้าทายของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ คือการทำให้ประชาชนมีความพึงพอใจ เข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพ โดยเครือข่ายบริการเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อ สามารถให้บริการแบบเบ็ดเสร็จภายในเครือข่ายบริการ” นายแพทย์ประพนธ์กล่าว
ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความสำเร็จการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแต่ละพื้นที่ เพื่อนำจุดเด่นไปปรับใช้ในเขตสุขภาพ ในปีนี้ มีผลงานเด่นด้านวิชาการและนวัตกรรมที่ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอ ทั้งการนำเสนอด้วยวาจา และจัดนิทรรศการ/โปสเตอร์ ใน 19 สาขา รวม 129 เรื่อง พร้อมทั้งการมอบรางวัลผลงานวิชาการและนวัตกรรมดีเด่น โดยมีผู้บริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาค คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับประเทศและทุกเขตสุขภาพ ผู้บริหารสำนักงานเขตสุขภาพ ราชวิทยาลัย ผู้ปฏิบัติงาน และภาคีเครือข่ายร่วมประชุม 1,200 คน