วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม 5001 ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ทำหน้าที่ประธานการประชุมฯ โดยมีนายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เข้าประชุมคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กรมการพัฒนาชุมชน และมีคณะกรรมการเข้าประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ เลขานุการคณะกรรมการโครงการ อพ.สธ. นายขจรศักดิ์ วรประทีป หัวหน้าแผนกวิชาการโครงการ อพ.สธ. นางสาวศิริกุล เกษา เจ้าหน้าที่ อพ.สธ. และมีนางสาวมนทิรา เข็มทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการในการประชุมฯ
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ได้ดำเนินมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ก่อให้เกิดกิจกรรมร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ ที่นำผลประโยชน์มาถึงประชาชนชาวไทย ตลอดจนให้มีการจัดทำระบบข้อมูลพันธุกรรมพืชให้แพร่หลายสามารถสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ ภายใต้ 3 ฐานทรัพยากร ได้แก่ ทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรกายภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ใน 3 กรอบการดำเนินงาน คือ กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร กรอบการใช้ประโยชน์ และกรอบการสร้างจิตสำนึก และในเดือนมิถุนายน 2560 กรมการพัฒนาชุมชนได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้เข้าร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
การประชุมในวันนี้ ได้นำเสนอสรุปผลการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมการพัฒนาชุมชน (อพ.สธ. – พช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมการพัฒนาชุมชน (อพ.สธ. – พช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน อพ.สธ. ตามแผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่เจ็ด (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2569) นำเสนอโดย นายพรชัย จุฑามาศ ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ แนวทางการดำเนินงาน อพ.สธ. – พช. ตามแผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่เจ็ด (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2569) นำเสนอโดย ดร.ปิยรัษฏ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ตำแหน่ง เลขานุการคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และพิจารณาแผนปฏิบัติงานสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีงบประมาณ 2567 สนองพระราชดำริโดยกรมการพัฒนาชุมชน
นายพรชัย จุฑามาศ รอง ผอ.โครงการ อพ.สธ. กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งมาว่า “ให้ดำเนินการไปสู่งานปกติของทุกหน่วยงาน” นั่นคือ ให้เอางานที่ทำอยู่แล้วเป็นงานสนองพระราชดำริได้ งานของ อพ.สธ. เป็นงานที่สืบทอดงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ในการรักษาฐานทรัพยากรของประเทศ ที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง นั่นคือการพึ่งตนเองได้ ซึ่งต้องมีทรัพยากรที่เป็นกายภาพ ดิน น้ำ พลังงาน ชีวภาพคือ พืช สัตว์ จุลินทรีย์ และเรื่องของวัฒนธรรมภูมิปัญญา วิถีชีวิตของเรา ขนมธรรมเนียมต่าง ๆ เป็นเรื่องของภูมิสังคม การอนุรักษ์ทรัพยากรนั้น ไม่เฉพาะทรัพยากรกายภาพและทรัพยากรชีวภาพเท่านั้น ทรัพยากรทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ก็เป็นสมบัติที่ต้องรัก เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ให้เกิดประโยชน์ได้ ในแผนปฏิรูปประเทศในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้มีศูนย์อนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรท้องถิ่นตำบลทุกตำบลทั่วประเทศ นั่นคือ มีศูนย์ข้อมูลอยู่ที่ตำบล เพราะท้องถิ่นก็เหมือนประเทศเล็ก ๆ ประเทศหนึ่งที่สามารถบริหารตัวเองได้ เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย อพ.สธ.จะช่วยในเรื่องวิชาการให้ มหาดไทย 4.0 จะต้องมีฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น ทั้งจากแผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาจังหวัด รวมทั้งฐานข้อมูล OTOP จากกรมการพัฒนาชุมชน
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดี พช. กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์พืช ในพื้นที่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนทั้ง 11 แห่ง รวมถึงวิทยาลัยการพัฒนาชุมชน ศูนย์สารภี 3 แห่ง และส่วนงานพัฒนาชุมชนในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยดำเนินการจัดเตรียมพื้นที่และประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจการดำเนินงานกองทุนเมล็ดพันธุ์พืช ตลอดจนะประชาสัมพันธ์การจัดตั้งกองทุนฯให้แก่ประชาชนรอบบริการศูนย์ฯ ร่วมเป็นสมาชิกกองทุนฯ จัดทำระบบสารสนเทศด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยสำรวจจัดเก็บ และบันทึกข้อมูลต้นไม้ภายในพื้นที่ของศูนย์ รวมทั้งสิ้น 1,805 ต้น ในพื้นที่ทั้งหมด 1,383 ไร่ ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจการดำเนินงาน อพ.สธ.ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเป้าหมาย 250 คน ประกอบด้วย ประชาชนในจังหวัดพื้นที่บริการของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี ชลบุรี ระยอง นครนายก นนทบุรี ลำปาง เชียงใหม่ สระบุรี และจังหวัดชัยนาท เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ และเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนยะลา สระบุรี ชลบุรี นครนายก และศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ได้รับรู้และเข้าใจการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.)
มีการจัดแสดงนิทรรศการโครงการ อพ.สธ.จัดแสดง วันที่ 19-24 กันยายน 2565 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ตลอดจนพัฒนาศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น รวมถึงจัดตั้งนิทรรศการให้ความรู้โครงการ อพ.สธ. จำนวน 16 แห่ง โดยมีผู้เข้าชม จำนวนกว่า 21,838 คน
“ขอให้คณะกรรมการโครงการฯ ได้จัดทำแผนแม่บทตามคำแนะนำและข้อเสนอของ รองผู้อำนวยการโครงการฯ อพ.สธ. และให้พิจารณางานที่เกื้อกูลกันกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ช่วยทำให้ชัดเจนในเรื่องการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชด้วย และบูรณาการภาคีเครือข่ายเพื่อศึกษาและจัดให้มีกิจกรรมในศูนย์ฯ ช่วยกันรวบรวมข้อมูลทรัพยากรในท้องถิ่น สนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นมรดก เป็นทรัพย์สินของคนไทย ดังพระราชกระแส “การรักทรัพยากร คือ การรักชาติ รักแผ่นดิน” นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
#ทีมข่าวสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน
#MOI
#กระทรวงมหาดไทย
#CDD
#กรมการพัฒนาชุมชน
#ChangeforGoog
#SDGsforAll