อธิบดี พช. เปิดบ้านนักพัฒนา เปิดอบรมพัฒนากรรุ่น 123 ย้ำ “พัฒนากร” ต้องเป็นนักขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุมศรีราชา วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานพิธี “เปิดบ้านต้อนรับนักพัฒนา” ตามโครงการพัฒนาข้าราชการที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการพัฒนากรก่อนประจำการ รุ่นที่ 123 พร้อมทั้งกล่าวต้อนรับและให้โอวาทแก่ข้าราชการใหม่ โดยมีนายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายกัมปนาทจักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม นายไพโรจน์ โสภาพร เลขานุการกรม นายสมาน พั่วโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน นางสาวนิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน นางสาวมนทิรา เข็มทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน นายเกียรติปราโมทย์ ฉายศรี ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ นางสาวชุดากานต์ กำจัดภัย พัฒนาการจังหวัดชลบุรี ตลอดจนผู้แทนจากสำนัก กอง ศูนย์ คณะวิทยากร และนักศึกษาพัฒนากรก่อนประจำการรุ่นที่ 123 จำนวน 168 คน เข้าร่วมกิจกรรม

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวว่า การฝึกอบรมตามโครงการพัฒนาข้าราชการที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ หลักสูตรพัฒนากรก่อนประจำการ รุ่นที่ 123 ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์นักขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนยุคใหม่ให้มีศักยภาพ และพร้อมที่จะนำความรู้ความสามารถที่มีในตัวไปสู่ชุมชน ด้วยอุดมการณ์แห่งนักพัฒนา ถือเป็นการสร้างศรัทธาให้แก่ข้าราชการเมล็ดพันธุ์ใหม่ ให้มีจิตสำนึก และอุดมการณ์ให้กับนักพัฒนาให้หยั่งรากลึกสู่หัวใจ เป็นการเริ่มต้นในขั้นตอนการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดี ให้เติบโตงดงามในอนาคต และเป็นนักขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนในยุคใหม่ที่พร้อมส่งมอบอุดมการณ์สู่ชุมชนในทุกถิ่นที่ได้อย่างมีศักยภาพ เป็นข้าราชการที่ดี มีคุณธรรม และก้าวทันต่อยุคสมัย มุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชน เพื่อให้ชุมชมเข้มแข็ง คุณภาพชีวิตของประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมตามกระบวนการพัฒนาชุมชน โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างนักพัฒนาที่มาจากเมล็ดพันธุ์นักขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนยุคใหม่ ตั้งแต่กระบวนการแรกคือเตรียมความพร้อมของข้าราชการ หรือ “พัฒนากร” ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนา โดยการพัฒนาข้าราชการที่เปี่ยมล้นด้วยอุดมการณ์ และมีหัวใจของนักพัฒนาที่แท้จริง มีการจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์นักพัฒนา โดยได้รวบรวมทั้ง “ศาสตร์ และศิลป์” ไว้ในทุกกระบวนการและกิจกรรม ถือเป็นเป็นสิ่งที่ข้าราชการที่มาจากเมล็ดพันธุ์นักขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนยุคใหม่ที่ต้องมีในตัว เพื่อจะได้นำไปใช้ในการปฏิบัติงานรับใช้ประชาชนและสังคม เป็นการฝังรากลึกลงไปในใจของพัฒนากรรุ่น 123 ซึ่งเป็นกำลังสำคัญและเป็นความหวังของกรมการพัฒนาชุมชมและของประเทศชาติต่อไป

นายอรรษิษฐ์ กล่าวต่อว่า กรมการพัฒนาชุมชนมีความคาดหวังต่อน้องๆ พัฒนากรรุ่นใหม่ในการฝึกทักษะที่เกี่ยวข้องกับการเป็นพัฒนากรที่ดี ได้รับความรู้ด้านงานพัฒนาชุมชน และองค์ความรู้ด้านอื่น ๆ ที่ต้องใช้ในการปฏิบัติงาน มีแนวทาง มีหลักคิด และการปฏิบัติงานที่ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบ พัฒนาระดับความรู้เกี่ยวกับงานที่รับมอบหมาย ทั้งด้านวิชาการ ทั้งการปฏิบัติจริงได้รับความรู้พื้นฐานในงานพัฒนากร เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่จะช่วยพัฒนาตนเอง มีความกล้าคิด กล้าทำมากขึ้น ได้ทราบถึงรายละเอียดหน้าที่ของพัฒนากรมากยิ่งขึ้น พัฒนาการสื่อสารและการพูดต่อสาธารณชน ได้ประสบการณ์ให้กับตัวเอง พัฒนาด้านบุคลิกภาพ การปรับตัวได้ในทุกสังคมและทุกสถานการณ์ ได้รู้จักเพื่อนใหม่ เครือข่ายพัฒนากรที่สามารถประสานงานได้ในอนาคต ได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของพัฒนากรมากขึ้น และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน เข้าใจถึงระบบต่างๆในระบบราชการ โครงการ หรือนโยบายที่ได้รับมอบหมาย ตลอดจนปรับทัศนคติ และแรงจูงใจในการทำงาน

“สิ่งสำคัญในวันนี้คือการทุกคนได้กลับมาเจอกันอีกครั้งแล้วได้มาอยู่ร่วมกัน เพราะเราเป็นรุ่นเดียวกันได้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน คนเราทำงานสิ่งสำคัญคือท่านต้องมีเพื่อนจะได้ช่วยเหลือกัน เวลาไปอยู่ในพื้นที่ได้เจอชาวบ้าน ทำงานในชุมชน ต้องมุ่งมั่นตั้งใจ เหมือนเพลงที่มีเนื้อร้องว่า “อย่าฟังคำคน อย่าสนใจใคร อย่าเปลี่ยนแนว คนแน่แน่วเท่านั้น ผู้ชนะ” ต้องยืนหยัดแน่วแน่ วันหนึ่งข้างหน้าท่านจะเติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงาน คนที่ภูมิใจก็คือคุณพ่อคุณแม่ พวกท่านจะได้ชื่นใจ และมีอีกเพลงที่ว่า “คงจะมีสักวันคงเป็นวันที่ชื่นใจ คงจะมีสักวันคงเป็นวันที่ยิ่งใหญ่ อยู่บนทางที่เธอเคยหวั่น แต่เป็นวันที่คอยเธออยู่ไม่ไกล หากใจท้อขอให้จงอดทน หนทางที่เดินไป เหนื่อยเพียงไหนไม่กลัวสิ่งใด ก้าวไปให้มั่นคง” ขอทุกคนอย่าถอดใจ มีอะไรให้แจ้งมาที่กรมฯได้ การทำงานจะต้องร้องให้สุดคำรำสุดแขน ทำหน้าที่ตนเองให้เต็มที่ การจัดงานวันนี้ ขอขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสถาบันการพัฒนาชุมชน คณะวิทยากร และนักศึกษาพัฒนากรทุกคน” อธิบดี พช. กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับหลักสูตรอบรมพัฒนากรก่อนประจำการรุ่น 123 มีกำหนดการฝึกอบรมประกอบด้วย ภาควิชาการ จำนวน 17 วัน ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้หลักการ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการเมล็ดพันธุ์ใหม่ ในบทบาทของข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน ณ วิทยาลัยการพัฒนาชุมชนอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ภาคสนาม จำนวน 17 วัน ซึ่งเป็นกระบวนการในการฝึกปฏิบัติในพื้นที่ โดยลงมือปฏิบัติจริงภายในสถานการณ์จริงตามกระบวนการพัฒนาชุมชน 5 ขั้นตอน ณ พื้นที่ฝึกปฏิบัติภาคสนามในจังหวัดตามพื้นที่บรรจุแต่งตั้ง 50 จังหวัด ภาคสรุป จำนวน 6 วัน ซึ่งเป็นกระบวนการสังเคราะห์กระบวนงาน ในส่วนของภาควิชาการ และภาคสนาม ตลอดจนประมวลผลการเรียนรู้ทั้งหมด ณ วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมีการวัดและประเมินผล ตามเกณฑ์การวัดผล ดังนี้ 1) การสรุปสังเคราะห์และการประยุกต์ใช้ (Learning Log) คือ การบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิทยากรผู้บรรยาย โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การสรุปการเรียนรู้รายวิชาที่วิทยากรบรรยายโดยการสังเคราะห์สิ่งที่ได้เรียนรู้ และส่วนที่ 2 การอธิบายถึงวิธีการหรือการนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน 2)การประเมินพฤติกรรมนักพัฒนา 3) การประเมินผลการฝึกอบรมภาคสนาม (รายงาน) และ 4) การประเมินผลโดยการทดสอบความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งดำเนินการประเมินผลการเรียนรู้รายวิชา สำหรับผู้ถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้ จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารองค์กรในระดับประเทศ ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานในสังกัด พช. ผู้มีประสบการณ์/เครือข่ายการพัฒนาชุมชนและพี่เลี้ยง (Mentor) ผู้ทำหน้าที่ต่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมของข้าราชการเมล็ดพันธุ์ใหม่ของกรมการพัฒนาชุมชน

ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการฝึกอบรม “พัฒนากร รุ่น 123” คือ การเป็นข้าราชการเมล็ดพันธุ์ใหม่ของกรมการพัฒนาชุมชน มีทัศนคติที่ดี มีความรู้ความเข้าใจ เกิดทักษะการทำงานพัฒนาชุมน และมีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ในการขับเคลื่อน เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์กรมการพัฒนาชุมชน “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”