สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ช่วยสนับสนุนสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) ในการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างดินและน้ำในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่อยู่โดยรอบพื้นที่เหมืองโพแทช เพื่อศึกษาแหล่งที่มาของความเค็มในพื้นที่ชุมขน ผลตรวจพบปริมาณเกลือโซเดียมคลอไรด์สูงมาก และมีการปนเปื้อนโพแทสเซียมคลอไรด์ที่ผิดปกติ
นครราชสีมา – จากกรณีชาวบ้านใน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้รับความเดือดร้อนจากความเค็มในดินและแหล่งน้ำของชุมชนในบริเวณรอบๆ เหมืองแร่โปแทชในพื้นที่ ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บตัวอย่าง แล้วได้ส่งตัวอย่างดินและน้ำทั้งบนผิวดินและใต้ดินมาวิเคราะห์ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จำนวน 35 ตัวอย่าง โดยสถาบันฯ ได้วิเคราะห์ด้วยเทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ (XRF) และใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดขึ้น
นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) กล่าวว่า “จากการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สรุปได้ว่าบริเวณดังกล่าวมีการปนเปื้อนโซเดียมคลอไรด์สูงมาก และมีการปนเปื้อนโพแทสเซียมคลอไรด์อยู่ในระดับที่สูงผิดปกติจากแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปด้วย สอดคล้องกับผลตรวจที่ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ ได้ทำไปก่อนหน้านี้ ขั้นตอนต่อไปทางสำนักงานฯ จะนำส่งผลวิเคราะห์นี้ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด นครราชสีมา เพื่อให้คณะทำงานอีกคณะซึ่งเป็นคณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) นำไปประเมินความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรม และการใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน เพื่อให้มีการเยียวยาต่อไป” นายธนัญชัย วรรณสุข กล่าว
ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ รองผู้อำนวยการปฏิบัติการและใช้ประโยชน์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “สถาบันฯ ได้ดูองค์ประกอบธาตุในตัวอย่างน้ำและตัวอย่างดิน ขั้นแรกเราใช้เครื่องมือในห้องปฏิบัติการสแกนพบว่าในตัวอย่างน้ำส่วนใหญ่มีโซเดียม โพแทสเซียม และคลอรีนในปริมาณมาก จากนั้นตรวจด้วยแสงซินโครตรอนหาโลหะหนักหรือธาตุอื่นพบว่ามีอยู่ปริมาณน้อยๆ แต่ไม่พบในปริมาณที่ผิดปกติ โดยหลักๆ เจอโซเดียมคลอไรด์และโพแทสเซียมคลอไรด์ และได้ใช้ซินโครตรอนอีกเทคนิคดูรูปร่างของผลึกเพื่อยืนยันการพบโซเดียมคลอไรด์และโพแทสเซียมคลอไรด์”
ด้าน รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “หน่วยงานของภาครัฐได้ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง กรณีของซินโครตรอนเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนข้อมูล แต่อย่างไรก็ตามในการพิจารณาหรือแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องยอมรับในข้อมูลที่เป็นจริง และนำไปพิจารณาในทุกภาคส่วน เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ข้อมูลที่เราได้ศึกษาและนำไปมอบให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการต่อไป และคิดว่าสามารถนำไปสู่ข้อสรุปร่วมกันและนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไปได้ ทั้งนี้ อยากจะเห็นข้อมูลที่ถูกต้องถูกนำไปใช้เพื่อการแก้ไขปัญหา หรือช่วยให้การพัฒนาของภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ ไปพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน เพื่อให้การพัฒนาร่วมกันต่างๆ เป็นไปได้อย่างยั่งยืน”