วธ.ประกาศผลปูชนียบุคคล-ผู้ใช้ภาษาไทย-ภาษาไทยถิ่นดีเด่น-ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย

วันที่ 17 กรกฎาคม 2566  กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้จัดงานแถลงข่าว วันภาษาไทยแห่งชาติพุทธศักราช 2566 โดยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายบพิตร วิทยาวิโรจน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร ร่วมแถลงข่าว พร้อมด้วยผู้บริหาร เครือข่ายวัฒนธรรมร่วมงาน ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

นางยุพา กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ วธ.จึงได้ดำเนินการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ กำหนดจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ในวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พุทธศักราช 2566 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์และกระตุ้นให้เยาวชน ประชาชนรู้รักภาษาไทย ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการสร้างต้นแบบที่ดีแก่ประชาชนให้มีการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง เหมาะสมและภูมิใจในความเป็นไทย รวมถึงสร้างค่านิยมและส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนเห็นคุณค่าความสำคัญของภาษาไทย ได้ร่วมกันสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของชาติให้คงอยู่สืบไป

ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้เปิดเผยถึงผลการดำเนินการคัดเลือกปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ประจำปีพุทธศักราช 2566 ดังนี้ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย 4 ราย ได้แก่

1. ศาสตราจารย์กิตติคุณศิราพร ณ ถลาง 

2. ศาสตราจารย์กิตติคุณอัจฉรา ชีวพันธ์ 

3. ศาสตราจารย์ชลธิรา สัตยาวัฒนา 

4. รองศาสตราจารย์อิงอร สุพันธุ์วณิช

ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จำนวน 11 ราย ได้แก่

1. นางสาวใกล้รุ่ง อามระดิษ

2. นายชะเอม แก้วคล้าย 

3. นายปรีชา จันเอียด 

4. นายภิรเดช แก้วมงคล 

5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวุฒิ ภักดีบุรุษ 

6. นางวราภรณ์ สมพงษ์ 

7. นายวิฑูรย์ ไตรรัตน์วงศ์ 

8. รองศาสตราจารย์ศานติ ภักดีคำ 

9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวนีย์ พระแก้ว 

10. นายอภิชาต อินทรวิศิษฏ์ 

11. นายอำนวย สุวรรณชาตรี

ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น จำนวน 6 ราย ได้แก่

1. นางเกษร แสนศักดิ์ 

2. พันตรีฉลอง จิตรตรง 

3. นายชายชื้น คำแดงยอดไตย 

4. นางเทวี บุตรตั้ว

5. นางพจนีย์ เพ็งเปลี่ยน 

6. นางเอื้องคำ คำสันทราย

ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย 1 องค์การ ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ในส่วนของรางวัลเพชรในเพลง นายบพิตร วิทยาวิโรจน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า มีผู้ที่ได้รับรางวัล เพชรในเพลง ประจำปีพุทธศักราช 2566 รวม 14 รางวัล ดังนี้ รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ 2 รางวัล ได้แก่ คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย 4 รางวัล ได้แก่

– คำร้องเพลงไทยสากล นายกมลศักดิ์  สุนทานนท์ นายปิติ  ลิ้มเจริญ  นายรัฐวิชญ์  อนันต์พรสิริ

– คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง นายประภาส  ชลศรานนท์ (โก๋ ลำลูกกา) และ นายสลา คุณวุฒิ

รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย จำนวน 8 รางวัล ได้แก่

– ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย นายธงไชย แมคอินไตย์ นายกิตติธัช แก้วอุทัย (ธัช เพลงเอก)

– ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง นางสาวอิสริยา คูประเสริฐ นางกุลมาศ สารสาส (ขนมจีน)

– ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย มนต์แคน แก่นคูน นายปรัชญา ธรรมโชติ (โบ๊ท เพลงเอก)

– ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง นางสาวพรพิมล  เฟื่องฟุ้ง (เปาวลี  พรพิมล) นางสาวอรทัย  ดาบคำ (ต่าย อรทัย)

นอกจากนี้ กรมศิลปากร ยังได้จัดพิมพ์หนังสือหายาก เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ เรื่อง “ปกีรณำพจนาดถ์ และ อนันตวิภาค” เนื้อหาประกอบด้วยหนังสือแบบเรียนภาษาไทย 2 เรื่อง ได้แก่ หนังสือ “ปกีรณำพจนาดถ์” และหนังสือ “อนันตวิภาค” ซึ่งทั้ง 2 เรื่อง เป็นผลงานประพันธ์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร)  และยังได้เตรียมจัดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “แบบเรียนรัตนโกสินทร์” กำหนดจัดในวันที่ 10 สิงหาคม 2566 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ หอสมุดแห่งชาติ เทเวศร์ อีกด้วย รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 ได้ ในวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีพิธีมอบโล่เกียรติยศและโล่รางวัลแก่บุคคลและหน่วยงานผู้ได้รับรางวัลด้านภาษาไทย อาทิ

ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย รางวัลด้านการประกวดหรือแข่งขันทักษะทางภาษาไทย อาทิ รางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หัวข้อ “มนต์รักษ์ภาษาไทย” คลิปวิดีโอเพลงแรป รางวัลเพชรในเพลง  รวมถึงรางวัลอ่านทำนองเสนาะ “สดับถ้อยร้อยกรองไทย ครั้งที่ 2” ตลอดจนการเผยแพร่วีดิทัศน์ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยของสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย โดยจะมีการมอบเกียรติบัตรให้แก่สถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยที่ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยด้วย นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานของผู้ได้รับรางวัลภาษาไทย ในประเภทต่าง ๆ รวมถึงการแสดงทางวัฒนธรรม การขับร้องบทเพลงโดยศิลปินชื่อดังผู้ได้รับรางวัลเพชรในเพลง อีกด้วย