กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับยูเนสโก พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน กรมศิลปากร สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัยศิลปากร คัดหัวกระทิช่างไม้และก่อสร้าง จำนวน 20 คน เข้าอบรมเป็นช่างอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไม้แบบดั้งเดิมของไทย เริ่มอบรม 19 กรกฎาคม – 29 ตุลาคม 2562
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี ร่วมกับยูเนสโก พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน กรมศิลปากร สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดอบรมให้กับช่างไม้และงานก่อสร้าง แรงงานทั่วไปที่สนใจหรือมีประสบการณ์ด้านงานไม้ โดยผู้ที่จะเข้ารับการอบรม ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไม้ก่อสร้าง ระดับ 1 ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว ปัจจุบันมีผู้ผ่านการคัดเลือกแล้ว 20 คน เริ่มอบรมระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม – 29 ตุลาคม 2562
นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า การอบรมใช้ระยะเวลา 2 เดือน แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงแรกเป็นการอบรมเกี่ยวกับ ความรู้เบื้องต้นในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมประเภทไม้ ระยะเวลา 5 วัน ในวันจันทร์ที่ 19 – วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2562 ณ ยูเนสโก กรุงเทพฯ ช่วงที่ 2 สำรวจและบันทึกสภาพก่อนการอนุรักษ์ การประเมินความเสียหาย และการวางแผนอนุรักษ์ ระยะเวลา 7 วัน ในวันพุธที่ 28 สิงหาคม – วันอังคารที่ 3 กันยายน 2562 ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ช่วงที่ 3 รับการพัฒนาทักษะและเทคนิคเพื่อการอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ประเภทไม้ ใช้ระยะเวลา 11 วัน ในวันเสาร์ที่ 5 – วันอังคารที่ 15 ตุลาคม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และช่วงที่ 4 รับการพัฒนาทักษะและเทคนิคการอนุรักษ์ การอนุรักษ์เชิงป้องกัน การบำรุงรักษาและประเมินผลการทำงาน พร้อมกับสอบวัดความเข้าใจในหลักการอนุรักษ์ รวมระยะเวลา 4 วัน ในวันเสาร์ที่ 26 – วันอังคารที่ 29 ตุลาคม ณ ยูเนสโก กรุงเทพฯ
ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้จากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ จะได้รับประกาศนียบัตรที่รับรองโดยกรมศิลปากรและกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรับรองฝีมือแรงงานในการทำงานต่อไป ที่สำคัญคือการอบรมครั้งนี้ “ฟรี” และได้รับการช่วยเหลือค่าเดินทางและเบี้ยเลี้ยงในการมาร่วมอบรมอีกด้วย เมื่อผ่านการอบรมจะได้รับการคัดเลือกเป็นครูต้นแบบของกรมศิลปกร
“สำหรับผู้ที่จะเข้ารับการอบรม ต้องจบการศึกษาระดับ ปวช. หรือ ปวส. สาขาวิชาก่อสร้างไม้ วิชาช่างโยธา วิชาเขียนแบบทางสถาปัตยกรรม หรือเทียบเท่า หรือ เป็นครูอาจารย์จากสถาบันอาชีวศึกษา (สาขางานก่อสร้าง) ครูอาจารย์ที่สอนวิชาเกี่ยวกับช่างโยธา ช่างควบคุมโครงการ ช่างสำรวจ หรือช่างเขียนแบบ ที่มีประสบการณ์ทำงานในโครงการอนุรักษ์มาก่อน หรือ เป็นช่างฝีมืองานไม้อาคาร ทั้งนี้ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไม้ก่อสร้าง ระดับ 1 ของกพร.แล้ว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สพร.14 ปทุมธานี 025775867 ถึง 9 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” อธิบดี กพร.กล่าว