‘พาณิชย์’ เกาะติดกรณีพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป แนะเอกชนเตรียมรับมือ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แนะเอกชนติดตามสถานการณ์ข้อพิพาททางการค้าเรื่องการอุดหนุนเครื่องบินระหว่างสหรัฐกับสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงทางการค้าและเตรียมปรับตัวกรณีสองประเทศตอบโต้ทางการค้าระหว่างกัน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative : USTR) ได้ประกาศร่างรายการสินค้าที่สหรัฐฯ เตรียมจะขึ้นภาษีตอบโต้สหภาพยุโรป ในกรณีสหรัฐฯ ยื่นฟ้องสหภาพยุโรปในองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) เมื่อปี 2547 และมีคำตัดสินเมื่อปี 2561 อนุญาตให้สหรัฐฯ มีสิทธิใช้มาตรการทางการค้า ตอบโต้สหภาพยุโรปได้ เนื่องจากมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะบริษัทแอร์บัส (Airbus) เช่น การให้เงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาโรงงานผลิต จัดหาเงินทุนสำหรับการออกแบบและพัฒนาเครื่องบิน เป็นต้น เข้าข่ายเป็นการอุดหนุนส่งออก (Export Subsidies) ที่ขัดกับกฎเกณฑ์ของ WTO และก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อสหรัฐฯ ซึ่งสหภาพยุโรปต้องยกเลิกมาตรการ แต่ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามคำตัดสิน ส่งผลให้สหรัฐฯ มีสิทธิใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรปได้ อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการใช้มาตรการตอบโต้เพราะยังไม่สามารถตกลงเรื่องระดับของความเสียหายและการตอบโต้ทางการค้าที่เหมาะสมได้ และอยู่ระหว่างรออนุญาโตตุลาการชี้ขาดในเรื่องนี้

นางอรมน เสริมว่า แต่เดิมสหรัฐฯ กำหนดรายการสินค้าจำนวน 317 รายการในประกาศเพื่อเตรียมตอบโต้สหภาพยุโรป (เช่น  ตัวถังเครื่องบินโดยสาร ชิ้นส่วนประกอบของลำเครื่องบินจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน  ตลอดจนชีส โยเกิร์ต น้ำมันมะกอก ผลไม้ บรั่นดีองุ่น เป็นต้น) และเพิ่มเติมรายการสินค้าอีก 89 รายการ เช่น เนื้อหมู ชีส มะกอก วิสกี้ และท่อเหล็ก รวมมูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยหลังจากนี้ ในเดือนสิงหาคม 2562  USTR จะเปิดให้สาธารณชน ผู้ประกอบการ และผู้สนใจแสดงความเห็นต่อรายการสินค้า 89 รายการใหม่ จากนั้น สหรัฐฯ จะเสนอรายการสินค้าให้อนุญาโตตุลาการของ WTO พิจารณาเห็นชอบระดับความเหมาะสมและมูลค่ามาตรการที่จะใช้ตอบโต้ต่อไป  ทั้งนี้ ประกาศของ USTR ระบุว่า หากอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด ก่อนที่กระบวนการรับฟังความเห็นภายในประเทศของสหรัฐ จะเสร็จสิ้น สหรัฐฯ จะดำเนินการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าตามรายการเดิม มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทันที และจะพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมเพิ่มเติมในเรื่องนี้ต่อไป  ซึ่งคาดว่าอนุญาโตตุลาการของ WTO อาจเผยแพร่ผลการพิจารณาระดับความเหมาะสมและมูลค่าของการบังคับใช้มาตรการตอบโต้ของสหรัฐ ในเดือนกันยายนนี้

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ประกาศร่างรายการสินค้าที่จะขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ เช่นกัน อาทิ ซอสมะเขือเทศ ถั่ว น้ำส้ม ช็อกโกแลต และวอดก้า มูลค่ารวม 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สืบเนื่องจากผลการตัดสินของ WTO เมื่อปี 2555 กรณีที่สหภาพยุโรปยื่นฟ้องสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะบริษัทโบอิง (Boeing) ว่ามาตรการของสหรัฐฯ เข้าข่ายเป็น Export Subsidies รวมถึงก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผลประโยชน์ของสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันสหภาพยุโรปก็อยู่ระหว่างการรอคำชี้ขาดจากอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับระดับของการตอบโต้ทางการค้าที่เหมาะสมเพื่อจะตอบโต้สหรัฐฯ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของ WTO เช่นกัน

นางอรมน ย้ำว่า กรณีพิพาทระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ตอกย้ำความสำคัญของระบบการค้า    พหุภาคีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นธรรมและความเท่าเทียม โดยประเทศสมาชิก WTO จำเป็นต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากการละเมิดข้อผูกพันหรือพันธกรณีของ WTO อาจส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท เพื่อให้คณะผู้พิจารณาและองค์กรอุทธรณ์ของ WTO ตัดสิน และอาจมีผลสืบเนื่องไปถึงการอนุญาตให้ตอบโต้ทางการค้า เช่น การขึ้นภาษีสินค้าสำคัญ หากผู้แพ้คดียังคงยืนกรานไม่ปฏิบัติให้สอดคล้องกับคำตัดสิน  ก็จะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจการค้าและภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีการค้าโลก

ขณะเดียวกันหากสองมหาอำนาจขึ้นภาษีตอบโต้ทางการค้ากันจริงตามที่ประกาศไว้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าโลก และประเทศต่างๆ เนื่องจากรูปแบบการผลิตสินค้าในปัจจุบันมีหลายรายการที่เชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่การผลิตโลก ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนไทยจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถเจรจาหาทางออกของปัญหาระหว่างกันได้หรือไม่ หรือจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงทางการค้าและปรับตัวได้ทัน

—————————–

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์