กรมชลประทาน ย้ำทุกโครงการชลประทานทุกแห่ง ติดตามสถานการณ์ฝนและสภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมเก็บน้ำกักน้ำให้ได้มากที่สุด เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา วอนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด หลังมีแนวโน้มฝนตกน้อย
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน และประเทศไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ยและประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีการกระจายของฝนเพิ่มมากกว่าภาคอื่นๆ นั้น กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ คาดการณ์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและสภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสาขาต่างๆ
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปัจจุบัน(10 ก.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 37,098 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ ประมาณ 13,172 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันมากกว่า 38,900 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อน- ป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,638 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,942 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง 4 เขื่อนหลัก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 16,200 ล้าน ลบ.ม.
ทางด้านแม่น้ำสายหลักต่างๆทั่วประเทศ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ เฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 385 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 7.86 เมตร มีแนวโน้มลดลง และยังคงการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 60 ลบ.ม./วินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศ ทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนที่ อ.บางไทร มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 69 ลบ.ม./วินาที
ทั้งนี้ โครงการชลประทานทุกแห่ง ได้มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้ดำเนินการตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน และเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ กำลังเจ้าหน้าที่ประจำไว้ตามจุดเสี่ยงภัยทั่วประเทศ ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ
อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) ได้ออกมาคาดการณ์แจ้งเตือนว่าในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน นี้ ประเทศไทยจะมีฝนตกน้อยต่ำกว่าค่าปกติ ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำน้อยลงด้วย กรมชลประทาน ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ เก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯให้ได้มากที่สุด พร้อมบูรณาการทุกหน่วยงานลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนและทุกภาคส่วน ให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอไม่ขาดแคลน
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC)
กรมชลประทาน