โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับชุมชน จิตอาสา ดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อนามัยแม่และเด็ก ชาวเขา ชนกลุ่มน้อย ทั้งในและนอกพื้นที่ ก่อตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุก องคมนตรี และคณะ พร้อมด้วยนายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ โดยเยี่ยมชมสวนเกษตรพอเพียง นิทรรศการ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานแพทย์แผนไทย อาคารสืบสานพระราชปณิธาน (อาคารแม่เตาไฟ) อาคารพระราชทาน 20 (อาคารผู้ป่วยในชายและหญิง) และมอบของขวัญพระราชทานแก่ผู้ป่วย
นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็น 1 ใน 10 โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติฯ ที่กระทรวงสาธารณสุขสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ตามแนวคิด “โรงพยาบาลที่เป็นมากกว่าโรงพยาบาล” (More Than Hospital) โดยเน้นการทำงานร่วมกับชุมชนเชิงรุก มีจิตอาสาดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ให้บริการอนามัยแม่และเด็ก มีหน่วยฝากครรภ์เคลื่อนที่ (Mobile ANC) ให้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและในหมู่บ้าน ตรวจอัลตร้าซาวด์แก่หญิงตั้งครรภ์ทุกรายในครั้งแรกและไตรมาสสุดท้าย และทำงานร่วมกับทีมแพทย์จิตอาสามูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล ให้บริการแพทย์เฉพาะทางหลากหลายสาขารวม 16 ครั้ง มีผู้รับบริการ 889 ราย และร่วมกับมูลนิธิจักษุศัลยกรรมสภากาชาดไทย จัดโครงการผ่าตัดตาต้อกระจก 2 ครั้ง มีผู้รับบริการ 211 ราย
นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า ผู้รับบริการส่วนใหญ่เป็นชาวเขาและชนกลุ่มน้อย เจ้าหน้าที่จึงต้องเรียนรู้ พัฒนาตนเอง ทำความเข้าใจวัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อม ให้สามารถสื่อสารจนเป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ โดยได้ร่วมกับชุมชนสร้างส้วมให้กับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และชาวบ้านตามชายขอบทั้งในและนอกพื้นที่ กิจกรรมสงเคราะห์สร้างบ้านให้กับผู้ป่วยยากไร้ ก่อตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ ทำฝายตามแนวพระราชดำริ เป็นต้น
ทั้งนี้ โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง รับผิดชอบประชากร 12,966 คน ให้บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 102 คนต่อวัน ได้พัฒนาเป็นโรงพยาบาลเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อเป็นโรงพยาบาลสีเขียว (Green Hospital) ตามพระราชดำริ อาทิ การจัดพื้นที่สวนเกษตรและสวนโภชนาการเพื่อเป็นแหล่งอาหารปลอดภัย แหล่งเรียนรู้แก่ชุมชน สร้างอาคารสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นที่พักผ่อนของผู้ป่วยและญาติตามวิถีชนเผ่า และยังเป็นสมาร์ท ฮอสปิทัล นำระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์มาใช้แทน OPD card มีระบบ Smart คิวในงานผู้ป่วยนอก ขณะนี้ ผ่านการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน HA ขั้นที่ 2 ผ่านการรับรองระบบบริหารงานคุณภาพตามมาตรฐานงานเทคนิคการแพทย์ 2551 และผ่านการรับรองกระบวนการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ