ทช. ร่วมกับ ปตท.สผ. ยกระดับด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผนึกกำลังสนับสนุนชุมชนชายฝั่ง ภายใต้การดำเนินงานการอนุรักษ์ทะเลเพื่อชีวิต

วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จัดประชุมแนวทางการสนับสนุนชุมชนชายฝั่ง ภายใต้การดำเนินงานการอนุรักษ์ทะเลเพื่อชีวิต เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ทะเลเพื่อชีวิต เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรท้องทะเลไทย ในการนี้นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มอบหมายให้นายเกรียง มหาศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 (สมุทรสาคร) เป็นประธาน โอกาสนี้มี คุณบุษบรรณ จีนเจริญ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ดร.ประภาพร ไหวพริบ ผู้อำนวยการส่วนบริหารโครงการชุมชนชายฝั่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทน ผู้อำนวยการกองจัดการชุมชนชายฝั่ง ตลอดจนผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพฯ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ณ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากร
ทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีภารกิจหลัก ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเพื่อความมั่งคั่ง สมดุล และยั่งยืนของทะเลไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศแต่ด้วยพื้นที่ทางทะเลกว่า 202 ล้านไร่ ป่าชายเลนกว่า 2.58 ล้านไร่ เกาะกว่า 533 เกาะ และชายฝั่งความยาวกว่า 3,151 กิโลเมตร จึงจำเป็นต้องหาพันธมิตรที่มีอุดมการณ์ ความพร้อม และมีความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ ดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มาร่วมกันปฏิบัติงาน โดย กรม ทช. ได้เล็งเห็นถึงการปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มาโดยตลอด ทั้ง 2 หน่วยงาน จึงได้ร่วมกันหารือแนวทางการดำเนินงานและมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการอนุรักษ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for life) ที่จะร่วมกันดำเนินงาน ระหว่างปี 2563 – 2573 เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมให้เกิดความ อุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรท้องทะเลไทย และเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย โดยมีแผนการดำเนินงานการอนุรักษ์ทะเลเพื่อชีวิต ซึ่งครอบคลุมการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลหลายด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการขยะทะเล การป้องกันขยะลงสู่ทะเลด้วยการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนทั่วไปให้ตระหนักถึงความสำคัญของทะเล และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการกำจัดขยะและแปรรูปขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ การปลูกและฟื้นฟูป่าชายเลนให้สามารถเป็นแหล่งอนุบาล สัตว์น้ำ ชายฝั่งและระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์ การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์วิถีประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน และการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทะเลหายาก รวมถึงการจัดทำแนวเขตอนุรักษ์และเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลบริเวณชายฝั่ง หรือบ้านปลา เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและปริมาณสัตว์น้ำ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล และการสนับสนุนการผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูปที่มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อการตรวจติดตามสุขภาพของมหาสมุทรและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล

นางสาวบุษบรรณ จีนเจริญ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและกิจกรรมเพื่อสังคม ปตท.สผ. กล่าวว่า ในฐานะผู้แทน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคนไทย ที่มีภารกิจหลักในการสร้างความมั่นคง ด้านพลังงานให้แก่ประเทศ โดยมุ่งมั่นสร้างคุณค่าระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ปตท.สผ. ยังมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการดูแล รักษา และปกป้องท้องทะเลไทย ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ โดยผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการทำงานร่วมกับชุมชน ผ่านโครงการต่างๆ ภายใต้กลยุทธ์ “ทะเลเพื่อชีวิต” ซึ่งมีสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การสำรวจและผลิตเพื่อพิทักษ์อนุรักษ์ทะเลไทย การฟื้นฟูดูแลความสมบูรณ์ทางทะเลและบลูคาร์บอน และการพลิกฟื้นคืนทะเล เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ปตท.สผ. ได้นำเสนอ โครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ การจัดทำแนวเขตอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลและบ้านปลา และการเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเล พร้อมทั้งมีแผนจะดำเนินโครงการในปี 2567 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนกลุ่มชุมชนชายฝั่งในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้ ปตท.สผ. และกรม ทช. ได้ร่วมกันขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2563 ในปัจจุบันได้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจแล้วเสร็จ จำนวน 11 แห่ง และสนับสนุนชุมชนในการวางบ้านปลา จำนวน 29 กลุ่ม มีการวางทุ่นแนวเขตอนุรักษ์ฯ จำนวน 25 กลุ่ม และจัดตั้งกลุ่มอาชีพแปรรูปอาหารทะเล จำนวน 10 กลุ่ม

การประชุมแนวทางการสนับสนุนชุมชนชายฝั่ง ภายใต้การดำเนินงานการอนุรักษ์ทะเลเพื่อชีวิตในครั้งนี้ ถือว่าเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการยกระดับด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืนอีกทั้ง ยังเป็นการบริหารจัดการขยะทะเลด้วยการป้องกันขยะลงไหลลงสู่ทะเล การปลูกจิตสำนึกให้กับประชาชนทั่วไปให้เห็นความสำคัญของทะเล และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยกำจัดขยะ การปลูกและฟื้นฟูป่าชายเลนให้สามารถเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำชายฝั่งและระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์ การพัฒนาศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และวิถีประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน และการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก การจัดทำแนวเขตอนุรักษ์และเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลบริเวณชายฝั่งหรือบ้านปลา ตลอดจนเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชาวประมงพื้นบ้าน และชุมชนในพื้นที่นั้นๆ ได้มีอยู่มีกิน อีกทั้งร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ฯ ที่เข้มแข็งอีกด้วย ทั้งนี้กรม ทช. จะร่วมกับ ปตท.สผ. คัดเลือกเครือข่ายที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นชุมชนชายฝั่งของกรมฯ และมีศักยภาพที่เหมาะสม พร้อมจะดำเนินโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการอนุรักษ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for life) ในโอกาสนี้ จึงอยากฝากพี่น้องประชาชน และหน่วยงานทุกภาคส่วน ให้หันมาร่วมมือกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงความอุดมสมบูรณ์ สืบต่อไป 
“นายอภิชัย กล่าวทิ้งท้าย