วันที่ 8 กรกฎาคม 2566 พระครูกิตติสุตานุยุต เจ้าคณะอำเภอเมืองนครพนม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีตักบาตรพระสงฆ์ กิจกรรมครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน ภายใต้แนวคิด สวมผ้าไทย ห่มสไบ ใส่บาตรริมโขง โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัฒนธรรมจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พุทธศาสนิกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ริมแม่น้ำโขงวัดมหาธาตุ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา เดินหน้านโยบาย “นำธรรมะสู่ใจประชาชน” ด้วยการจัดกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรม วันธรรมสวนะ “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าวัดทำบุญเป็นประจำทั้งในวันพระและวันธรรมดาเพิ่มมากขึ้น โดยจัดกิจกรรมต้นแบบในส่วนกลาง ณ วัดบำเพ็ญเหนือ กรุงเทพมหานคร และในส่วนภูมิภาค ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พร้อมขยายผลไปยังส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ
สำหรับกิจกรรมสวมผ้าไทย ห่มสไบ ใส่บาตรริมโขง ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ได้บูรณาการงานร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร หนองคาย และอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง ก่อให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวในมิติทางศาสนาที่น่าสนใจ ทั้งยังมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงถือเป็นโอกาสอันดีในการยกระดับกิจกรรมส่งเสริมการตักบาตร ให้พุทธศาสนิกชนมีโอกาสสะสมเสบียงบุญด้วยการตักบาตรในโอกาสต่างๆ นอกเหนือวันธรรมสวนะ และยังเป็นการอนุรักษ์ประเพณีตักบาตร ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวิถีธรรม ด้วยการเชิญชวนให้ประชาชนสวมผ้าไทย ห่มสไบ ใส่บาตรริมโขง ชูอัตลักษณ์วิถีถิ่น เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนให้พื้นที่กลุ่มจังหวัดริมแม่น้ำโขงอีกด้วย
นอกจากนี้ กรมการศาสนายังส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพของพระสงฆ์ ด้วยการถวายภัตตาหารด้วยอาหารเมนูสุขภาพ โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร และหนองคาย ได้ร่วมออกบูธจัดแสดงชุดตักบาตรตามวิถีถิ่น เมนูสุขภาพเพื่อห่างไกลจากโรค โดยเฉพาะในปัจจุบันพบว่ามีสถิติพระสงฆ์อาพาธจากโรคต่างๆ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ยังได้ดำเนินงานตามนโยบายการส่งเสริม Soft Power ของกระทรวงวัฒนธรรม ในมิติศาสนา ซึ่งนอกจากผู้มาทำบุญและนักท่องเที่ยวจะรู้สึกอิ่มบุญแล้ว ยังอิ่มเอมใจที่ได้เที่ยวชมอุดหนุนผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมที่ชาวบ้านในชุมชนละแวกใกล้เคียงนำมาจัดจำหน่าย อาทิ ผักผลไม้ปลอดสาร อาหาร เสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้อีกทางหนึ่ง เกิดกระแสเงินหมุนเวียน ก่อให้เกิดรายได้ในครัวเรือน ซึ่งจะทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า หลายจังหวัดในประเทศไทย ยังมีกิจกรรมทำบุญตักบาตร วันพระที่โดดเด่น กรมการศาสนาจึงได้ขยายผลและต่อยอดโครงการฯ ด้วยการเปิดจุดเช็คอินเสบียงบุญ ไหว้พระตักบาตร 10 แห่ง ซึ่งล้วนเป็นสถานที่ที่สะท้อนความศรัทธาและความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น อีกทั้งยังได้รับความนิยมจากพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยอีกด้วย โดยจุดเสบียงบุญตักบาตรดังกล่าว ประกอบด้วย 1.ตักบาตรหน้าวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2.ตักบาตรสะพานมอญสังขละฯ จังหวัดกาญจนบุรี 3.ตักบาตรสะพานบุญ วัดตระพังทอง จังหวัดสุโขทัย 4.ตักบาตรข้าวเหนียว เชียงคาน จังหวัดเลย 5.ตักบาตรหาบจังหัน จังหวัดอุตรดิตถ์ 6.บิณฑบาตรพระขี่ม้า วัดถ้ำป่าอาชาทอง จังหวัดเชียงราย 7.ตักบาตรทางน้ำบริเวณลานสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี 8.ตักบาตรบนสะพานซูตองเป้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 9.ตักบาตรหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช และ 10.ตักบาตรริมชายหาดเขาตะเกียบ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนตลอดจนนักท่องเที่ยวทุกท่าน ร่วมสืบสานวิถีพุทธ พาครอบครัวหิ้วตะกร้า ทำบุญตักบาตร ไหว้พระเสริมสิริมงคล พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในชุมชน ผ่านกิจกรรมดังกล่าว