สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เตือนประชาชนในช่วงหน้าฝนให้ระมัดระวัง โรคผิวหนังที่มากับหน้าฝน หมั่นสังเกตตนเองอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติที่ผิวหนัง แนะนำให้เข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อ รับการวินิจฉัยรักษาที่ถูกต้อง
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในฤดูฝนเป็นช่วงที่มีน้ำท่วมขัง สภาพอากาศชื้น และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดโรคผิวหนังต่างๆ ตามมาด้วย โดยโรคผิวหนังที่จะพบได้บ่อยๆ ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อราหรือเเบคทีเรีย ที่จะเจริญเติบโตเเละก่อโรคได้ดีในสภาพอากาศเเละสิ่งเเวดล้อมในฤดูฝน ประชาชนที่เดินทางออกนอกบ้าน บางครั้งอาจจะเปียกฝนหรือเดินลุยน้ำขัง จะพบปัญหาโรคผิวหนังที่ตามมาจึงควรหมั่นสังเกตตนเองอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติทางผิวหนัง แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยเเละดูเเลรักษาที่ถูกต้องต่อไป
แพทย์หญิงชนิศา เกียรติสุระยานนท์ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคผิวหนังที่พบบ่อยได้บ่อยในฤดูฝน ได้แก่ 1. โรคเกลื้อน มีลักษณะเป็นผื่นวงกลมหลายวง มีขุยละเอียด สีแตกต่างกัน มักเกิดบริเวณ ลำตัว เช่น หลัง หน้าอก ท้อง ไหล่ คอ พบมากในผู้ที่มีเหงื่อออกมาก และใส่เสื้อผ้าที่อับชื้น 2.โรคกลาก มีลักษณะเป็นผื่นวงมีขอบเขตชัดเจน มีขุย เริ่มต้นด้วยอาการคัน ตามด้วยผื่นแดงต่อมาจะลามเป็นวงออกไปเรื่อย ๆ และมักจะคันมากขึ้น ส่วนใหญ่พบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น หนังศีรษะ รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า 3.โรคเท้าเหม็นเกิดจากการมีเชื้อแบคทีเรียบางชนิดบริเวณผิวหนังชั้นนอก มีอาการเท้าแห้งลอก เท้าจะมีกลิ่นรุนแรงมากกว่าปกติ มีหลุม รูพรุนเล็ก ๆ บริเวณฝ่าเท้าและง่ามเท้า 4.โรคน้ำกัดเท้า มีอาการระคายเคืองผิวหนังจากความอับชื้น เมื่อสัมผัสสิ่งสกปรกบริเวณที่มีน้ำท่วมขังหลังฝนตก ทำให้เกิดผื่นตามเท้าและซอกนิ้วเท้า บางรายอาจมีอาการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย 5.โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เนื่องจากอุณหภูมิและความชื้นของอากาศเปลี่ยนแปลงไปสังเกตจากมีผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมากที่บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา และซอกคอ 6.ฤดูฝนจะมีการเพิ่มจำนวนของแมลงหลากหลายชนิด เช่น ยุง หมัด ไร ด้วงก้นกระดก หากสัมผัสอาจเกิดเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้หากมีอาการแพ้รุนแรงควรพบแพทย์ สำหรับการป้องกันและการดูแลตัวเองในช่วงหน้าฝน สามารถทำได้ดังนี้ 1. อาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดร่างกายหลังทันทีโดนฝน 2.ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด แห้งสนิทไม่อับชื้น 3.ล้างมือ ล้างเท้าหลังลุยน้ำ 4.หากพบปัญหาผิวหนังแนะนำให้มาพบแพทย์ทันที