“เมื่อก่อนมีอาชีพทำนา กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง แต่ละปีกำหนดไม่ได้ว่าจะได้เงินมากหรือน้อย ขึ้นกับฟ้าฝนน้ำท่าในปีนั้น จนเมื่อเปลี่ยนมาทำฟาร์มหมูขุน ความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น มีเงินใช้จ่ายไม่ลำบาก ถ้าไม่ก้าวจากจุดนั้นครอบครัวก็คงไม่มีคุณภาพชีวิตดีแบบนี้” ธเนศ นาคะนิวิษฐ์ เล่าย้อนที่มาก่อนจะมาเป็นเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุน หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ
จากชาวนาที่ยึดอาชีพทำนาหาเลี้ยงครอบครัวมาตลอด และได้หันมาทำฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อเป็นอีกอาชีพเสริมก่อน จนกระทั่งลูกทั้งสองคนเรียนจบนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม แต่ด้วยแนวคิดที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง และเห็นว่าการเลี้ยงหมูเป็นอีกอาชีพที่น่าสนใจจากที่ญาติเลี้ยงหมูกับซีพีเอฟอยู่ก่อน และให้ข้อมูลว่าการเลี้ยงหมูไม่ยุ่งยาก จึงสนใจเปิดฟาร์มหมู โดยมีพ่อธเนศเป็นผู้สนับสนุนลงทุนสร้างโรงเรือนเลี้ยงหมู 2 หลัง ความจุหมู 1,500 บาท เมื่อปี 2559 และยกให้ลูกทั้งสองรับผิดชอบดูแล ซึ่งการเลี้ยงมีประสิทธิภาพการผลิตดี รายได้น่าพอใจ ทำให้คิดเรื่องการขยายการผลิต แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ จึงตัดสินใจขายโรงเรือนเลี้ยงหมูและโรงเรือนเลี้ยงไก่ให้กับญาติที่เลี้ยงอยู่ก่อนแล้ว เพื่อไปเริ่มต้นสร้าง “ธเนศฟาร์ม” บนพื้นที่กว่า 19 ไร่ ที่ ต.หนองประตู่ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี สร้างฟาร์มหมูขุนจำนวน 5 หลัง ความจุหมูรวม 4,000 ตัว เมื่อปี 2563 โดย พ่อธเนศ และ แม่นุชรี ล้อมวงศ์ มาช่วยกันบริหารงาน
เมื่อถามถึงการตัดสินใจลงทุนทำฟาร์มหมูเป็นเฟสใหญ่เช่นนี้ ธเนศให้เหตุผลว่า เมื่อเทียบกันแล้วการลงทุนเฟสใหญ่จะใช้ต้นทุนต่อตัวถูก ต่ำกว่าเลี้ยงหมูเฟสเล็ก เมื่อผลผลิตที่ได้มากขึ้น ผลตอบแทนจากการลงทุนครั้งใหญ่นี้ก็ปรากฏผลที่น่าพอใจอย่างที่คิดไว้จริงๆ จากนั้นจึงสร้างโรงเรือนเพิ่มอีก 1 หลัง รวมความจุหมูทั้ง 6 โรงเรือนเป็น 4,800 ตัว และยังมีแผนขยายการเลี้ยงต่อไปอีกหากมีพื้นที่ที่เหมาะสม เพราะเห็นแล้วว่าอาชีพนี้มั่นคงและสร้างรายได้ที่น่าพอใจ
“ตลอด 7 ปี ในการเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมู ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ช่วยพลิกชีวิตอดีตชาวนาอย่างผมจากหน้ามือเป็นหลังมือ เราไม่มีกรอบข้อจำกัดเรื่องการเงินก็เพราะอาชีพเลี้ยงหมู ผมกับภรรยา และลูกๆ ช่วยกันปั้นธเนศฟาร์มให้เป็นฟาร์มหมูมาตรฐาน ใส่ใจความปลอดภัยอาหาร การเลี้ยงและการป้องกันโรคที่เข้มงวด อย่างเช่นการคุมเข้มโรค ASF ในหมู ตามมาตรฐานที่บริษัทแนะนำ ทำให้ที่ฟาร์มไม่มีปัญหาเรื่องโรค ความเสียหายในการเลี้ยงต่ำ ได้ผลผลิตที่ดีทำให้รายได้ก็มั่นคงตามไปด้วย ที่สำคัญคือมีบริษัทเข้ามารับความเสี่ยงทั้งหมดและเป็นตลาดรับซื้อผลผลิตให้” นายธเนศ กล่าว
ทางด้าน ธนารีย์ นาคะนิวิษฐ์ และ สุภัสสรา มะลิคง ที่รับผิดชอบดูแลกิจการฟาร์มหมูมาตั้งแต่ต้น เล่าเสริมว่า การตัดสินใจทำฟาร์มหมูจากความคิดที่อยากเป็นเจ้านายตัวเอง วันนี้พิสูจน์แล้วว่าอาชีพนี้ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแท้จริง และการบริหารจัดการฟาร์มก็ไม่ยากนัก แม้ตนเองจะไม่เคยทำมาก่อน แต่ด้วยการเรียนรู้ และได้รับคำปรึกษาจากทีมงานซีพีเอฟ ทำให้สามารถเลี้ยงหมูจนมีผลผลิตที่ดีมาตลอด
ยิ่งปัจจุบันการเลี้ยงมีระบบที่ช่วยสนับสนุนอย่างดี ทั้งเครื่องควบคุมอุณหภูมิ มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV ทั้งภายในและภายนอก ที่สามารถดูความเป็นอยู่ของหมูตลอด 24 ชั่วโมง การให้อาหารด้วยระบบอัตโนมัติ ฟาร์มมีการจัดระเบียบแยกส่วนบ้านพักกับส่วนเลี้ยง เรื่องกลิ่นก็ไม่ต้องกังวลเพราะของเสียในระบบการเลี้ยงทั้งหมด ถูกส่งเข้าระบบไบโอแก๊ส ผ่านกระบวนการหมักจนได้ก๊าซชีวภาพมาเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม ช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าในฟาร์มหมูได้ถึง 70-80% ของค่าไฟฟ้าทั้งหมด เรียกว่าทั้งประหยัด ลดกลิ่น และลดโลกร้อนเพราะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ
“ขอบคุณซีพีเอฟ ที่ผลักดันโครงการคอนแทรคฟาร์ม ที่ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับเกษตรกร บริษัทสนับสนุนทุกอย่าง ทั้งเรื่องพันธุ์หมู อาหาร วัคซีนป้องกันโรค ให้ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้เกษตรกรดูแลให้ผลผลิตออกมาดีที่สุด ซึ่งความสำเร็จจะเกิดได้ก็จากความทุ่มเทของตัวเจ้าของที่ต้องใส่ใจ ขยัน มานะ อดทน มีความรู้เกี่ยวกับงาน และศึกษาให้ถ่องแท้ รวมทั้งทีมงานของเราก็ต้องเป็นทีมเดียวกัน ร่วมกันทำงานให้ได้เป้าหมายที่ตั้งไว้ เชื่อว่าความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ยาก วันนี้พูดได้เต็มปากว่าการเลี้ยงหมูเป็นอาชีพที่ยั่งยืน อยู่กับซีพีเอฟมีความมั่นคง” ธนารีย์ กล่าวอย่างภูมิใจ
ความสำเร็จของ “ธเนศฟาร์ม” เกษตรกรที่ตัดสินใจเลี้ยงหมูขุน จนสามารถพลิกชีวิต สร้างอาชีพมั่นคง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเกษตรกรกว่า 5,200 ราย ในโครงการคอนแทรคฟาร์มมิ่งของซีพีเอฟ ที่ถือเป็นข้อต่อสำคัญในห่วงโซ่การผลิตเนื้อสัตว์ปลอดภัย ด้วยมาตรฐานการผลิตที่บริษัทผลักดันให้เกษตรกรทุกคนดำเนินการมาโดยตลอด ทำให้การผลิตเป็นไปอย่างมีขั้นตอน ถูกต้องตามหลักวิชาการ สู่ผลลัพธ์เนื้อสัตว์และอาหารคุณภาพเพื่อผู้บริโภคทุกคน./