“นาค” เป็นสัตว์ในตำนานที่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมไทยมาอย่างยาวนานนับพันปี ซึ่งส่งอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของผู้คนในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ความศรัทธา จารีตประเพณี ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ตำนานบ้านเมือง ตลอดจนคติทางศาสนาที่กล่าวว่า นาคเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องศาสนสถานนำความสุขความเจริญให้แก่พุทธบริษัท จึงมักปรากฏรูปนาคสร้างประกอบไว้ในศาสนสถานเสมอ
ขณะเดียวกันมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบให้ “นาค” เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ประเภทสัตว์ในตำนาน อันเป็นการประกาศเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ
นาคในตำนานปรัมปราหรือนิทานพื้นบ้านตามคติความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชาวไท-ไทยและกลุ่มชาติพันธุ์ ในลุ่มแม่น้ำโขง มักปรากฏในรูปแบบสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสะท้อนคติความเชื่อและเป็นต้นกำเนิดวัฒนธรรมท้องถิ่น อาทิ พิธีกรรมฮดสรง (พิธีเถราภิเษก) พิธีแห่พระอุปคุตเพื่อบูชาก่อนจัดงานบุญพระเวสสันดร ตำนานบั้งไฟพญานาค ตำนานคำชะโนด หรือตำนานประเพณี ไหลเรือไฟจังหวัดนครพนม ซึ่งเรือที่ตกแต่งขึ้นนั้นเป็นตัวแทน องค์พญานาคเพื่อลอยบูชารอยพระพุทธบาท นาคจึงถือเป็นสัญลักษณ์ สะท้อนวัฒนธรรมของประชาชนจังหวัดนครพนมอย่างแนบแน่น
จากความเชื่อความศรัทธาของผู้คนในพื้นที่ที่มีต่อตำนานความเชื่อเรื่องพญานาคในฐานะที่เป็นผู้เกื้อหนุนพระพุทธศาสนา รวมถึง องค์พระธาตุพนมและปกปักษ์ดินแดนแถบลุ่มน้ำโขง จังหวัดนครพนมจึงได้ร่วมกับประชาชนชาวจังหวัดนครพนมและผู้ที่เคารพศรัทธาต่อองค์พญานาค จัดสร้างประติมากรรม “พญาศรีสัตตนาคราช” เพื่อเป็นสัญลักษณ์เมืองที่แสดงถึง พลังแห่งความศรัทธา ประติมากรรมพญาศรีสัตตนาคราชนั้น หล่อด้วยทองเหลืองมี 7 เศียร ขดลำตัว 3 ชั้น ขนาดกว้างรวมหาง 4.49 เมตร ประดิษฐานอยู่บนแท่นรวมความสูง 16.29 เมตร น้ำหนักรวม 9 ตัน หันหน้าไปทางทิศเหนือเฉียงตะวันออก ประดิษฐานเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางทัศนียภาพอันสวยงามริมแม่น้ำโขง ณ บริเวณถนนสุนทรวิจิตร อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาโดยจังหวัดนครพนมได้จัดพิธีอัญเชิญองค์พญาศรีสัตตนาคราชขึ้นประดิษฐานและจัดพิธีสมโภชใหญ่พุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559
คติการสร้างกล่าวถึงพญาศรีสัตตนาคราชนั้นได้พิจารณาเห็นว่า ผิวกายตนมีโคลนตมคราบไคลที่มัวหมองเปรียบกับกิเลส ตัณหา ราคะอันเป็นมลทิน จึงได้ลอกคราบไคลเหล่านั้น ไว้เบื้องล่างเหลือเพียงผิวกายสีทองอร่าม เป็นสิริมงคล แล้วขึ้นไปขดอยู่บนแท่นอันเป็นเอกมงคลแห่งนี้เพื่อให้ผู้ที่มีความศรัทธาได้เดินทางมาสักการะขอพร พระศอคล้องสังวาลรูปสัญลักษณ์ เหนือซุ้มประตูพระธาตุพนมแสดงถึงการเป็นพญานาคผู้รักษาองค์พระธาตุพนม
จังหวัดนครพนม มูลนิธิพญาศรีสัตตนาคราช ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) นครพนม และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จัดงาน “บวงสรวง พญาศรีสัตตนาคราช ” ในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี ตลอดระยะเวลา 7 วัน 7 คืน โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 13 กรกฎาคม 2566 ณ บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม กิจกรรมประกอบด้วย พิธีบวงสรวงและรำบูชาพญาศรีสัตตนาคราช ตลอดระยะเวลา 7 วัน จาก 12 อำเภอ นางรำสวมใส่ชุดพื้นเมืองตามอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ ได้แก่ ชาติพันธุ์ไทอีสาน ไทญ้อ ไทแสก ไทข่า ไทกะเลิง ไทโส้ ผู้ไท ไทกวน ไทตาด ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม และชาวไทยเชื้อสายจีน การแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน พรหมพงศ์วงศ์อสุรา โดยวิทยาลัยนาฎศิลปกาฬสินธุ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ณ บริเวณถนนนิตโย และการเสวนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับ “นาค” เอกลักษณ์ประจำชาติไทย ณ ตลาดคนเมืองไทนคร บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช รวมทั้งนิทรรศการ เรื่อง“นาค” เอกลักษณ์ประจำชาติไทย ประเภทสัตว์ในตำนาน กิจกรรมประกวดภาพถ่าย “นาคในคติศาสนาและวิถีชีวิต” โดยกรมการศาสนา และกิจกรรมประกวดภาพถ่าย “ประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย” โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
นอกจากนั้น ยังมีการจัดมหกรรมผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม และผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยที่เกี่ยวเนื่องกับพญานาค ภายใต้ชื่อ “ตลาดคนเมืองไทนคร” ณ บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช และหน้าวัดมหาธาตุ มีการออกร้านสาธิต จัดแสดงและ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม CPOT CCPOT ผลิตภัณฑ์ชุมชนและผลิตภัณฑ์ ร่วมสมัย ที่เกี่ยวเนื่องกับนาค ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้ ของที่ระลึก และอาหาร เป็นต้น จากชุมชน 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ จังหวัดนครพนม รวมทั้งจังหวัดแถบลุ่มน้ำโขงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ สกลนคร อุบลราชธานี อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย มุกดาหาร และยโสธร
งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราชประจำปี 2566 เป็น 1 ใน 16 เทศกาลประเพณีที่กระทรวงวัฒนธรรมประกาศยกระดับสู่ระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยสำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดนครพนมบูรณาการความร่วมมือกับจังหวัดนครพนม จัดขึ้นโดยเป็นการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ ด้วยวัฒนธรรมรวมทั้งผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดี ให้แก่ประเทศตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะอุตสาหกรรม วัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F งานเทศกาลประเพณี (Festival) กระตุ้นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนมและประเทศด้วยมรดกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จังหวัดนครพนม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม และภาพประกอบจากแฟนเพจเฟซบุ๊กการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานนครพนม