ย้ำทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ หลังหลายหน่วยงานเตือนมีแนวโน้มฝนตกน้อย

กรมชลประทาน ย้ำแม้จะมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ แต่วอนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด สำรองน้ำไว้ใช้ให้มากที่สุด หลังหลายหน่วยงานเตือนเดือนสิงหาคม-กันยายน มีแนวโน้มที่ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆน้อยตามไปด้วย

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในพี่น้องประชาชน ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำ ทั้งน้ำภาวะหลากและน้ำน้อย ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยในช่วงฤดูฝนนี้จะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 5-10 ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนกรกฎาคม จะมีปริมาณฝนตกน้อยในหลายพื้นที่ อีกทั้งสำนักงานสารสนเทศ-ทรัพยากรน้ำ (สสน.) ได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเกิดภาวะฝนตกน้อยตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆน้อยตามไปด้วย จำเป็นต้องวางแผนใช้น้ำอย่างระมัดระวังตั้งแต่ตอนนี้ นั้น

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ(9 ก.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 37,162 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 13,238 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 38,907 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำรวมกันประมาณ 8,680 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,984 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับปริมาณน้ำตลอดในช่วงฤดูฝนนี้ได้รวมกันอีกกว่า 16,191 ล้าน ลบ.ม.

 เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือจากสถานการณ์ฝนตกน้อยดังกล่าว กรมชลประทาน ได้มีการประชาสัมพันธ์และวางมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ โดยพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกข้าว ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ทำการประชาสัมพันธ์แนะนำให้เกษตรกรทยอยเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่และให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนพื้นที่ที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้ว กรมชลประทาน จะดำเนินการส่งน้ำแบบประณีตด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นการส่งน้ำแบบรอบเวรหมุนเวียนในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อการใช้น้ำของทุกภาคส่วน รวมทั้งขอให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำปิง น่าน และแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ทำการสูบน้ำให้เป็นไปตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด

สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่งที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำชี ประสานกับทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดรอบเวรสูบน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ตลอดริมแม่น้ำชี ให้สูบน้ำตาม  รอบเวรของตนหรือสูบเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ในส่วนของพื้นที่เพาะปลูกข้าวด้านท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวในเขตชลประทานหนองหวายได้อย่างเต็มศักยภาพ กรมชลประทาน ได้วางแนวทางที่จะนำน้ำที่มีอยู่บริเวณหน้าฝายหนองหวายประมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. ส่งไปช่วยพื้นที่นาข้าวที่ขาดน้ำก่อน ด้วยการส่งน้ำเป็นรอบเวรแบบประณีตหรือส่งน้ำแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อให้เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงต้นข้าวไม่ให้ยืนต้นตาย ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ทยอยเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 จะประชุมร่วมกับกฟผ.เขื่อนอุบลรัตน์ ผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ และหน่วยที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดสรรน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจในการรับมือกับสถานการณ์ฝนที่มีแนวโน้มจะตกน้อยกว่าค่าปกติ ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกับบูรณาการทำงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ร่วมใจกันใช้น้ำตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด พร้อมกับรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ยังได้วางมาตรการให้ความช่วยเหลือโดยเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนได้ทันทีอีกด้วย

*******************************

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์