นายอรรถพล เจริญชันษา กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าบริเวณบนดอยม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อใช้พื้นที่ทำเกษตรขยายเป็นวงกว้าง ตลอดจนการนำพื้นที่ไปใช้เชิงธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในการก่อสร้างบ้านพักตากอากาศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ด้วยสภาวะสิ่งแวดล้อมสถานที่ดังกล่าวมีสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปีและมีวิวทิวทัศน์ที่นักท่องเที่ยวสามารถชื่นชมกับบรรยากาศได้รอบทิศทาง ดังนั้นพื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นที่สนใจของกลุ่มนายทุนที่ต้องการเข้ามาถือครองเพื่อใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สภาพพื้นที่ดังกล่าวกำลังประสบปัญหาคล้าย ภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ ทำให้กรมป่าไม้ ต้องเร่งเข้าดำเนินการแก้ไข โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมามีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประชุมเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาประชาชนบุกรุกพื้นที่ดอยม่อนแจ่ม โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษพยัคฆ์ไพร เข้าร่วมหารือพร้อมทั้งกำหนดมาตรการแนวทางในการแก้ปัญหา
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาเป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมาย และนโยบายของรัฐบาลด้านการจัดที่ดินทำกิน หรือ คทช. จึงได้ตั้งชุดคณะทำงานตรวจสอบการแก้ไขปัญหาที่ดิน ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ต.โป่งแยง และ ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ขึ้นเพื่อตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการครอบครองพื้นที่ โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจแปลงที่ดินที่มีการก่อสร้างอาคารที่พัก รีสอร์ท ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม โดยเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้บันทึกข้อมูลพร้อมทั้งเก็บรายละเอียดค่าพิกัดดาวเทียม (GPS) เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลการถือครองพื้นที่ที่มีอยู่ เช่น ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม และหลักฐานอื่นๆ ประกอบ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน โดยดำเนินการแบ่งกลุ่มประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ป่าและเข้าร่วมโครงการกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ซึ่งดำเนินการสำรวจตั้งแต่ปี 2546 ประมาณ 200 ราย เนื้อที่รวม 112 ไร่ ให้นำหลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับรูปแปลงและรายชื่อการถือครองที่เคยจัดทำไว้แล้วมาประกอบการพิจารณาขออนุญาตตามมาตรา 19 พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. ผู้ที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 ให้อนุญาตการอยู่อาศัยทำกินให้ตามหลักเกณฑ์
3. ผู้ที่อยู่อาศัยทำกินหลังมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 ก่อน 17 มิ.ย. 57 (คำสั่ง คสช.66/2557) ให้ดำเนินการอนุญาตการอยู่อาศัยทำกินให้กับผู้ยากไร้ แต่ในส่วนของนายทุนให้ดำเนินคดีทั้งหมด
4. ผู้ที่อยู่อาศัยทำกินหลัง 17 มิ.ย. 57 (คำสั่ง คสช.66/2557) ต้องดำเนินคดีกับทุกกลุ่มพร้อมทั้งมอบหมายให้หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพรนำทีมลงพื้นที่ม่อนแจ่มเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มนายทุนเป็นอันดับแรก และจัดทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงหลักเกณฑ์ในการดำเนินการกับผู้ที่อยู่อาศัยในเขตป่าทั้งหมด
###############################