สอวช. ชูแพลตฟอร์ม STEM OSS หนุนการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบโจทย์ความต้องการประเทศ

วันที่ 27 มิถุนายน 2566 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดงาน THAILAND Future Careers ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อนำเสนอกลไกการศึกษาเพื่อตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนในภาคอุตสาหกรรม นำเสนอความต้องการกำลังคนของภาคเอกชน และการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาคการอุดมศึกษา (Co-Creation) ในการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับความต้องการและอาชีพใหม่ในอนาคต โดย นางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต สอวช. เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “Upskill/Reskill การยกระดับสมรรถนะกำลังคนของประเทศ” ในประเด็น “Thailand’s Policy Platform for Future Workforce”

นางสาวภาณิศา กล่าวถึงบทบาทของ สอวช. ที่เป็นหน่วยงานดูแลด้านนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) และมีโครงการที่ สอวช. ให้ความสำคัญคือเรื่องของการพัฒนากำลังคน โดยเฉพาะกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงที่ตรงตามความต้องการในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ตอบโจทย์การตัดสินใจของนักลงทุน จึงได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีการแปลงจากนโยบายเชื่อมโยงสู่การดำเนินการจริง เพื่อเสริมสร้างและพัฒนากำลังคน โดยร่วมงานกับหน่วยงานพันธมิตร สป.อว. สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่ดูแลมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้แก่ กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รวมถึงสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดตั้งแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถะสูงตอบการลงทุนของภาคผลิตและบริการ ซึ่งมีฟังก์ชันหรือกลไกสำคัญของแพลตฟอร์มในบูรณาการให้เกิดความเชื่อมโยงของการสร้างกำลังคน มีกลไกการสนับสนุน ทั้งสิทธิประโยชน์ มาตรการสนับสนุนต่าง ๆ โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์มให้ทันสมัย และให้ผู้ใช้งานทั้งฝั่ง Supply คือผู้ผลิตบัณฑิต และฝั่ง Demand คือผู้ใช้บัณฑิต สามารถเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มได้ง่ายขึ้น

“แพลตฟอร์มนี้จะสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการผลิตกำลังคน ไม่ว่าจะเป็นกลไก upskill/reskill การร่วมมือกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษา สถานประกอบการ อาทิ CWIE Sandbox มีมาตรการสำคัญส่งเสริมผู้ประกอบการในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม Industrial Training Center (ITC) รวมถึงมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สนับสนุน เช่น มาตรการ Thailand Plus Package ที่ให้สิทธิประโยชน์แก่สถานประกอบการในการลดหย่อนภาษีสำหรับการจ้างงานบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ (STEM) ได้ถึง 150% และสถานประกอบการที่ส่งบุคลากรไปอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองสามารถรับส่วนลดทางภาษีได้ถึง 250% นอกจากนี้ ยังมีกลไกอื่น ๆ ที่ปรับให้ทันสมัยตอบโจทย์ความต้องการภาคเอกชนมากขึ้น” นางสาวภาณิศา กล่าว

ขณะเดียวกัน สอวช. ได้ทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดย FTI Academy ในการสำรวจแนวทางการพัฒนาความสามารถของภาคอุตสาหกรรม โดยรวบรวมความเห็นจากบริษัทที่อยู่ในเครือข่ายสภาอุตสาหกรรมฯ กว่า 100 แห่ง พบว่าความต้องการบุคลากรในสาขาที่สำคัญคือ ด้านดิจิทัล (digital) ที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านนี้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ และอีกสาขาหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องการกำลังคนเป็นอย่างมาก เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป คือ สาขาด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) โดยรูปแบบการพัฒนาทักษะบุคลากรให้มีความพร้อมแบบเร่งด่วนคือ กลไก reskill/upskill หรือการให้การเรียนรู้แบบ non-degree มีความต้องการสูง อยู่ที่ประมาณ 75%

ในส่วนของภาพรวมของการจ้างงานด้านวิศวกรรมศาสตร์และด้านวิทยาศาสตร์ พบว่าในปี 2559 -2560 ที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายสำคัญ ได้แก่ การประกาศนโยบาย EEC และ Thailand 4.0 ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานแรงงานด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมากที่สุด มีการจ้างงานวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น 14% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงเวลาถัดมา

การจัดตั้งศูนย์ STEM One Stop Services (STEM OSS) ขึ้นมา จึงเป็นกลไกสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงฝั่ง Supply คือผู้ผลิตบัณฑิต หรือสถาบันอุดมศึกษาและฝั่ง Demand หรือผู้ใช้บัณฑิต สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการสามารถแจ้งความประสงค์ความต้องการกำลังคน ค้นหาหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองจาก อว. เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทักษะของบุคลากรในองค์กร รวมถึงการขอรับรองการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้าน STEM เพื่อนำไปสู่การลดหย่อนภาษีได้ กลุ่มบุคคลทั่วไป หรือนักศึกษา สามารถเข้ามาประเมินสมรรถนะทางอาชีพสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ฝากประวัติสำหรับการสมัครงานหรือเข้าร่วมโครงการ และหน่วยฝึกอบรม สามารถขอรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน STEM รวมถึงลงทะเบียนหลักสูตร Degree/Non degree ได้ จึงถือเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการสนับสนุนการสร้างกำลังคนจากความต้องการที่แท้จริงของสถานประกอบการ (demand-side) นำไปสู่กลไกการพัฒนาร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและภาคการศึกษา (Co-creation) เพื่อนำไปสู่การได้บุคลากรที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานและสร้างโอกาสในการได้งานทำเพิ่มมากขึ้น

ผู้สนใจสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มได้ที่: www.stemplus.or.th