ดร.ศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการ กศน. เปิดเผยว่า สำนักงาน กศน.ได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีการศึกษา 2561 ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อเร็วๆนี้ โดยมีสำนักงานโครงการสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเข้าร่วม และมีสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพหลัก ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมด้านทักษะอาชีพของสถานศึกษา”
ดร.ศรีชัย กล่าวต่อไปว่า เป็นที่น่ายินดีมาก เพราะปีนี้สำนักงาน กศน.มีครู ศศช.ที่ชนะเลิศแนวปฏิบัติที่ดี จำนวน 6 ราย ซึ่งได้เข้าร่วมเสวนาวิชาการนำเสนอผลการดำเนินงานในเวทีอันทรงเกียรติแห่งนี้ด้วย ดังนี้ ด้านโภชนาการและสุขภาพอนามัย “สุขภาพดีด้วยอาหารโปรตีนจากไข่” โดย นางอัมพร สุขใจ จาก ศศช. บ้านสันปูเลย กศน. อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ด้านการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา (ภาษาไทย) “นิทานแสนสนุก นำสู่การอ่านออกเขียนได้” โดย น.ส.ชิชาชาญ กอบกาญจ์กุล ศศช.บ้านคุทะ กศน.อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ “ฝายมีชีวิตพลิกผืนป่าต้นน้ำบ้านแม่ปะกลาง” โดย นายสนั่น เชียงแก้ว ศศช. บ้านแม่ปะกลาง กศน.อำเภอสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น “ต้าก่ากิ๊เขว่: ลายผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านขุนหาด” น.ส.วรินทิรา ก้านคำ ศศช.บ้านขุนหาด กศน.อำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ ด้านคุณธรรมจริยธรรม “ออมดี มีเงินเก็บ” โดย นางนงนุช วรรณวัตร ศศช.บ้านกิ่วจันทร์ กศน.อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน และด้านการส่งเสริมอาชีพ “ผลิตภัณฑ์ผ้าทอปกากะญอประยุกต์ สร้างรายได้ ให้ชุมชน” โดย นางวราภรณ์ กันธะรักษา ศศช.บ้านซอแข่วาคี กศน.อำเภอท่าสองยาง จ.ตาก ทั้ง 6 คนมีความภาคภูมิใจที่มีโอกาสได้ทำงานภายใต้โครงการพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสามารถนำเสนอเนื้อหาได้อย่างน่าสนใจ
นอกจากนี้ สำนักงาน กศน.ยังร่วมจัดนิทรรศการ : หัวข้อ กศน.เรียนรู้นวัตกรรมสร้างอาชีพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เนื้อหาที่นำเสนอเป็นเรื่องราวของ เด็กๆ ใน ศศช. บนพื้นที่สูงที่อยู่ห่างไกลทุรกันดาร การคมนาคมลำบาก ไกลจากโรงเรียนและโรงพยาบาล ทำให้ขาดโอกาสและไม่ได้รับการศึกษา ต่อมาเมื่อมีครู ศศช. เข้ามาอยู่ในพื้นที่ เด็กๆ จึงได้รับความรู้ทั้งด้านการศึกษาและด้านอาชีพ เพื่อการดำรงชีพในชุมชน ผลิตภัณฑ์และผลิตผลที่นำมาจัดในนิทรรศการ จะคัดเลือกมาจากแนวปฏิบัติที่ดีด้านการส่งเสริมอาชีพที่ชนะประกวดแนวปฏิบัติที่ดีของสำนักงาน กศน.จังหวัดเข้าร่วม ได้แก่ การเลี้ยงแพะ การเพาะเห็ดหอม (แม่ฮ่องสอน ) การปลูกกาแฟ ตามโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ (เชียงใหม่) การทอผ้าผลิตภัณฑ์ผ้าทอปกากะญอ (ตาก) ซึ่งเป็นผลทำให้ชุมชนและเด็กๆ มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น ตลอดจนนำเสนอผลงานของนักเรียน ศศช. ที่ชนะเลิศการประกวดแข่งขันทักษะด้านอาชีพของนักเรียน ศศช. ระดับอนุบาล ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยการนำวัสดุต่างๆ ที่สามารถนำมาปั้นเป็นชิ้นงาน อาทิ พวงกุญแจ ของที่ระลึก กระปุกออมสิน ฯลฯ เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาต่อยอดให้กับตนเองและครอบครัวต่อไป และ “การสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์” การปั้นดินน้ำมัน ตามเนื้อเรื่อง “ความสุขที่บ้านเรา”
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สํานักงาน กศน.