วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมพะยูน กรมประมง นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรี่อง การสร้างความเข้มแข็งของงานวิจัยกรมประมง ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 25 มิถุนายน 2566 ระดมนักวิชาการหัวกะทิเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อร่วมกันกำหนดกรอบแผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการประมง ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง พร้อมเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านงานวิจัยและนวัตกรรมกรมประมงระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งมีเป้าหมายในการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและการประมง การแปรรูปสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านประมงอัจฉริยะ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพและทักษะของบุคลากรด้านการวิจัยของหน่วยงาน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชาวประมง และผู้ประกอบการ ตลอดจนยกระดับการผลิตสินค้าประมงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาคอาเขียนและตลาดโลก
ดังนั้น กรมประมงจึงจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรี่อง การสร้างความเข้มแข็งของงานวิจัยกรมประมง ระหว่างวันที่ 22 – 25 มิถุนายน 2566 โดยในวันที่ 22 มิถุนายน 2566 กำหนดจัดที่ห้องประชุมพะยูน กรมประมง กรุงเทพมหานคร และในวันที่ 23-25 มิถุนายน 2566 จัดที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ชะอำ บีช รีสอร์ท หัวหิน จังหวัดเพชรบุรี ทั้งนี้ เพื่อระดมความคิดเห็นและร่วมกันวางแผนกรอบงานวิจัยและความเชื่อมโยงของแผนงานวิจัย ปี พ.ศ. 2568 – 2570 รวมถึงพิจารณาโครงการวิจัยภายใต้แผนวิจัยปี พ.ศ. 2568 และวางแผนการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในปี พ.ศ. 2567 รวมถึงการวางแผนการประเมินผลกระทบงานวิจัยในแต่ละด้าน ได้แก่ ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ด้านการประมงทะเลและการประมงต่างประเทศ ด้านการประมงน้ำจืด ด้านพันธุกรรม สุขภาพสัตว์น้ำ และอาหารสัตว์น้ำ และด้านสินค้าประมง อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ซึ่งกรมประมง มีเป้าประสงค์ที่จะให้นักวิชาการที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้สามารถคิดค้นและผลิตงานวิจัย นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง สามารถขับเคลื่อนการวิจัยให้มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการกำหนดทิศทางงานวิจัยให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ และติดตามประเมินผลงานวิจัยได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนผลิตออกมาเป็นชิ้นงานสู่การใช้งานจริง ภายใต้แหล่งทุนเพื่อสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นผู้จัดสรรงบประมาณทุนสนับสนุนมูลฐาน (Fundamental Fund : FF) ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.)
โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้เน้นให้ความสำคัญและแนวทางการประเมินผลกระทบจากการวิจัย การประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ และการวิเคราะห์ผลประโยชน์และต้นทุน รวมถึงการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากงานวิจัย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมฯ สามารถวางแผนกรอบงานวิจัยพร้อมเชื่อมโยงแผนงานวิจัยและนำไปประกอบการพิจารณาการจัดทำโครงการวิจัยของตนเองได้ นอกจากนี้ ยังสร้างความพร้อมให้หน่วยงานด้วยการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากงานวิจัย เพื่อส่งเสริมศักยภาพนักวิจัยและยกระดับผลงานให้สามารถต่อยอดงานวิจัยนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง และสืบค้นความซ้ำซ้อนด้านสิทธิบัตรได้อย่างถูกต้อง ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และหน่วยงานภายนอกที่มากด้วยความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ด้านการวิจัยและนวัตกรรมระดับประเทศ ร่วมเป็นวิทยากร
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงหวังเป็นอย่างยื่งว่าผู้เข้าร่วมการประชุมฯ จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการพัฒนาโครงการวิจัยเพื่อให้การนำเสนอโครงการวิจัยของกรมประมงครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุมัติเงินสนับสนุนมาใช้ดำเนินงานตามกรอบแผนงานวิจัย ปี พ.ศ. 2568 – 2570 ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไป