กรมอนามัย จับมือ กรมสุขภาพจิต – ม.ธรรมศาสตร์ – มศว. ทำหลักสูตรคลินิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ช่วยวัยทำงานสุขภาพดี

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมสุขภาพจิต คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดทำหลักสูตรสำหรับผู้ปฏิบัติงานในคลินิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ช่วยสร้างสุขภาพดีให้วัยทำงานและสร้างมาตรฐานการดำเนินงานคลินิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประเทศ

วันที่ 8 กรกฎาคม 2562 นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรผู้ปฏิบัติงานคลินิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพวัยทำงาน” และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพมหานคร ว่า วัยทำงานส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากไม่มีการดูแลสุขภาพของตนเองที่เหมาะสมจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ ได้แก่ 1) โรคอ้วน เกิดจากขาดการออกกำลังกายและการกินอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป 2) โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด 3) มะเร็งระบบสืบพันธุ์ พบมากโดยเฉพาะในผู้หญิง เช่น มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม 4) โรคจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ นำไปสู่การเกิดมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง หลอดเลือดสมองตีบ และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และ5) โรคเครียด วัยทำงานเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเรื่องเงินและ งานกรมอนามัยจึงได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย  ศรีนครินทรวิโรฒ จัดทำหลักสูตรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพวัยทำงานและเนื้อหาวิชาด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพสำหรับผู้ปฏิบัติงานในคลินิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพขึ้น เพื่อให้คนวัยทำงานมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องและเหมาะสม

“ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว ประกอบด้วยกรมสุขภาพจิต ในการจัดทำหลักสูตรและเนื้อหาวิชาด้านอารมณ์ที่เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ามาร่วมจัดทำหลักสูตรและเนื้อหาวิชาด้านการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ และมหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ ได้เข้ามาร่วมจัดทำหลักสูตรและเนื้อหาวิชาด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพสำหรับผู้ปฏิบัติงานในคลินิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ สำหรับผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรฯ นี้จะได้รับองค์ความรู้ที่จำเป็นในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพสำหรับประชากรในวัยทำงาน รวมทั้งการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยผู้ที่เข้าอบรมในหลักสูตรนี้ประกอบด้วยบุคลากรจากศูนย์อนามัยที่ 1 – 12 สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง และภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพจากส่วนภูมิภาค บุคลากรจากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยต้องผ่านการอบรมทั้งสิ้น 33 ชั่วโมง ใน 6 รายวิชาหลัก ซึ่งหลังจากผ่านการอบรมฯ ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับเกียรติบัตร “หลักสูตรผู้ปฏิบัติงานคลินิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ” จากกรมอนามัย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

*** 

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ