นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์ทุเรียนภาคใต้ ซึ่ง สศก. ได้ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 9 – 15 มิถุนายน 2562 ภายใต้โครงการศึกษาบทบาทของผู้ประกอบการธุรกิจผลไม้ที่มีต่อผลไม้ไทย กรณีศึกษาทุเรียน พบว่า ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ในฤดูปีนี้ จะมีประมาณ 3 – 4 รุ่น โดยแต่ละรุ่นจะห่างกันประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ โดยเริ่มทยอยออกตลาดตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2562 และจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 ขณะที่ทุเรียนภาคใต้นอกฤดู (ทุเรียนทวาย) ขณะนี้อยู่ในช่วงที่เกษตรกรกำลังตัดแต่งกิ่งใบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำทุเรียนนอกฤดู และบางพื้นที่มีการตัดแต่งผลทุเรียนที่มีตำหนิ รวมทั้งตัดแต่งรูปทรงที่ไม่สวยออกจากต้นเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยทุเรียนนอกฤดูจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงมกราคม 2563 ซึ่งจากการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกร ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพมาตรฐาน โดยพบว่า ผลผลิตร้อยละ 80-90 เป็นทุเรียนเกรด A และเกรด B ที่เหลือร้อยละ 10 เป็นทุเรียนตกเกรดและมีตำหนิ
ด้านแรงงาน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากพม่า ค่าจ้างแรงงานมีทั้งแบบจ่ายรายวัน เหมาจ่าย และการจ่ายค่าจ้างแบบแบ่งสัดส่วนรายได้หลังจากขายทุเรียนเสร็จแล้ว เช่น เจ้าของสวนได้ร้อยละ 90 และแรงงานได้ร้อยละ 10 ขึ้นอยู่กับข้อตกลง ส่วนด้านเทคโนโลยีมาใช้กับสวนทุเรียน พบว่ามีการใช้เทคโนโลยีไม่มากนัก เนื่องจากมีกิจกรรมที่ค่อนข้างละเอียด เช่น การโยงกิ่ง ตัดลูก จึงพบการใช้เทคโนโลยีค่อนข้างน้อย แต่มีการทดลองใช้โดรนพ่นยา ซึ่งยังพบข้อจำกัดเนื่องจากระดับความสูงของต้นทุเรียนไม่เท่ากัน โดยปัญหาโรคแมลงที่พบในการผลิตทุเรียนของเกษตรกร ได้แก่ ราดำ เพลี้ยไฟ และไฟธอปเทอร่า ซึ่งทำให้ทุเรียนตายได้ง่าย
ด้านการตลาด เกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนจะมีรูปแบบการจำหน่ายโดยการประมูลให้กับล้งส่งออก ที่ให้ราคาสูงกว่า และไม่ผูกขาดกับผู้ซื้อรายเดิม หรือบางกลุ่มมีล้งส่งออกเข้ามาติดต่อขอดูผลผลิต และทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 20 – 30 วัน โดยกำหนดราคาตามคุณภาพของผลผลิต ซึ่งในส่วนของทุเรียนนอกฤดูปีนี้ คาดว่าจะเริ่มมีการติดต่อทำสัญญาซื้อขายประมาณช่วงเดือนตุลาคม 2562 ผลผลิตของเกษตรกรประมาณร้อยละ 80 – 90 จะแบ่งขายให้กับล้งส่งออก และร้อยละ 10 – 20 เป็นการจำหน่ายออนไลน์ผ่าน Facebook และ Line ส่วนผลผลิตที่มีตำหนิ หรือ ราดำ จะส่งเข้าโรงงานแปรรูป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ล้งส่งออกและแผงรับซื้อในพื้นที่ยังเปิดรับซื้อไม่มากนัก โดยคาดว่าเดือนกรกฎาคมจะเปิดแผงรับซื้อมากขึ้น
สำหรับสถานการณ์ตลาดจีน ขณะนี้ยังคงมีความต้องการบริโภคทุเรียนไทยต่อเนื่อง ทุเรียนที่นิยมบริโภคในตลาดจีน ได้แก่ ทุเรียนหมอนทอง ก้านยาว และพวงมณี โดยทุเรียนไทยที่เข้าสู่ตลาดจีนในช่วงนี้มีไม่มากนัก เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของผลผลิตภาคตะวันออกและภาคใต้ จึงทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ซึ่งทุเรียนที่เข้าตลาดจีนมีการจำหน่ายผ่านห้างสรรพสินค้า และผ่านตลาดค้าส่งเจียงหนาน เมืองกว่างโจว เพื่อกระจายต่อไปยังเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มากซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจ และมีค่าครองชีพสูงจะจำหน่ายได้ราคาดีกว่า อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเจียซิง ในมณฑลเจ้อเจียง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีทุเรียนของประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ตลาดจีนมาก ซึ่งมีราคาถูกกว่าทุเรียนไทย ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้น การรักษาคุณภาพและมาตรฐาน จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุเรียนไทย เพื่อรักษาตลาดให้ยั่งยืนในอนาคต โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป กระทรวงศุลกากรของจีนแจ้งว่า ผลไม้จากไทยที่ส่งไปจีน (มะม่วง ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ และมังคุด) ทุกกล่องจะต้องระบุรหัสการขึ้นทะเบียนสวน และรหัสโรงคัดบรรจุกล่องทุกกล่อง มิฉะนั้นจะถูกปฏิเสธการนำเข้าจากด่านนำเข้าทันที (สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร, 2562) เกษตรกรและผู้ประกอบการจึงต้องรักษาคุณภาพผลผลิตให้ดี ปฏิบัติตามกฎระเบียบมาตรฐานของประเทศคู่ค้าอย่างเคร่งครัด ไม่จำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ และระมัดระวังการตัดทุเรียนอ่อน ซึ่งนอกจากผิดกฎหมายผู้บริโภค เข้าข่ายหลอกลวง มีโทษ ทั้งจำทั้งปรับแล้ว ยังส่งผลต่อเสถียรภาพราคาและความเชื่อมั่นทุเรียนไทยในระยะยาว
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร