กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยในการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีที่ผลเป็นบวก จะต้องตรวจยืนยันด้วยชุดตรวจถึง 3 ชุดตรวจ หรือหากผลเป็น “สรุปไม่ได้” ต้องนัดเพื่อตรวจใหม่อีกครั้ง ประเทศไทยมีการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีทางห้องปฏิบัติการที่มีการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด ได้มาตรฐาน ถูกต้อง และเชื่อถือได้
วันที่ 7 กรกฎาคม 2562 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่ผู้ได้รับผลกระทบจากการตรวจเชื้อเอชไอวีที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคใต้ และมีการร้องเรียนมายังกระทรวงสาธารณสุข นั้น ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่ายทั้งผู้รับผลกระทบและผู้ให้บริการ และเร่งดำเนินการให้การช่วยเหลือเยียวยาต่อไป อย่างไรก็ตาม ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีมาตรฐานในการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในเลือด มีการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด มีความถูกต้อง แม่นยำ และเชื่อถือได้
สำหรับวิธีการตรวจและการแปลผลที่เป็นมาตรฐานนั้น กรณีรายงานผลเป็นบวกจะตรวจด้วยชุดตรวจ 3 ชุดตรวจ ซึ่งเป็นเลือดชุดแรกเดียวกัน และมีการเจาะเลือดผู้ป่วยซ้ำอีกครั้งเป็นตัวอย่างที่ 2 เพื่อยืนยันตัวบุคคล สำหรับกรณีที่รายงานผลเป็นลบ จะตรวจด้วยชุดตรวจ 1 ชุดตรวจ หากผลเป็น“สรุปไม่ได้” ต้องนัดตรวจใหม่ที่ 2 สัปดาห์ และ/หรือ 1 เดือน กรณีที่ผลเป็นสรุปไม่ได้ อาจเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้มารับบริการอาจเพิ่งสัมผัสเชื้อมา และร่างกายยังสร้างแอนติบอดี้ไม่ถึงระดับที่ชุดตรวจจะตรวจได้ หรืออาจเกิดจากร่างกายของผู้มารับบริการสร้างสารที่ทำปฏิกิริยากับชุดตรวจบางชุดตรวจที่ทำให้ไม่สามารถแปลผลการตรวจได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ให้บริการตรวจเอชไอวี มีการควบคุมคุณภาพภายใน ตรวจสอบคุณภาพของชุดตรวจเป็นประจำ ส่วนการควบคุมคุณภาพภายนอก เป็นการตรวจสอบระบบการทำงานของห้องปฏิบัติการ ต้องร่วมประเมินโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่นๆ อย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง นอกจากนี้ ชุดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีที่จำหน่ายในประเทศไทย ต้องผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี พ.ศ.2552 ทั้งนี้ การเลือกใช้ชุดตรวจให้เป็นไปตามคำแนะนำในแนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย ปี 2560
“ในโอกาสนี้ ขอแนะนำประชาชนว่า ทุกคนควรหันมาป้องกันตนเอง รับผิดชอบตนเองและผู้อื่น โดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และสามารถรับการตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรีปีละ 2 ครั้ง เพื่อจะได้รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง หากรู้ว่าติดเชื้อจะได้เข้ารับการรักษาทันที ถ้าต้องการคำปรึกษาเรื่องสุขภาพทางเพศ มีข้อสงสัยหรือข้อกังวลเกี่ยวกับเอชไอวี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 สายด่วน สปสช. 1330 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวปิดท้าย
*******************************************************
ข้อมูลจาก : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค