รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมผู้บริหารในการบริหารร่วมของ 3 รพ ในรูปแบบ นครชัยศรีโมเดล ทั้งบริหารคน เงิน ของ การจัดการ สร้างบริการเด่นตามศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาลสอดคล้องกับพื้นที่ มีการส่งต่อผู้ป่วยภายในจังหวัด ส่งผลให้สถานะทางการเงินดีขึ้นลดความแออัด ลดรอคอย ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพ
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้โรงพยาบาลที่ประสบปัญหาการเงินการคลัง ปรับระบบบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชน และขอชื่นชมผู้บริหารในการร่วมบริหารจัดการให้โรงพยาบาลหลายแห่งสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม แก้ไขวิกฤตการเงินได้ และประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น เช่น อำเภอนครชัยศรี มีโรงพยาบาลชุมชนถึง 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลนครชัยศรี โรงพยาบาลห้วยพลู และโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น ดูแลประชาชนในพื้นที่เพียง 150,000 คน จึงได้ร่วมกันตั้งคณะกรรมการบริหารร่วม 3 โรงพยาบาล บริหารกำลังคน การเงินการคลัง และทรัพยากรร่วมกัน และปรับระบบบริการแบบไร้รอยต่อภายในอำเภอ สร้างบริการเด่นตามศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาลสอดคล้องกับพื้นที่และส่งต่อผู้ป่วยระหว่างกัน จัดบริการได้กว้างขวางขึ้น ลดความแออัดและการส่งต่อไปโรงพยาบาลนครปฐม ผลงานที่ผ่านมา 1 ปี ประชาชนได้รับความสะดวก มีผู้รับบริการแต่ละด้านเพิ่มขึ้น ทำให้สถานะทางการเงินของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งดีขึ้น
สำหรับ “นครชัยศรีโมเดล” โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น มีความโดดเด่นด้านการดูแลเฉพาะทางเพื่อการฟื้นฟู จัดโปรแกรมการฟื้นฟูเฉพาะรายแบบเข้มข้นในผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง และผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ด้วยศาสตร์การแพทย์ผสมผสาน (Integrative medicine) โดยสหวิชาชีพและการแพทย์ทางเลือก มีบ้านฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระดูแลความพร้อมในการช่วยเหลือตนเองก่อนส่งกลับไปดูแลต่อในชุมชนและติดตามเยี่ยมบ้าน ส่วนโรงพยาบาลห้วยพลู มีทันตแพทย์เฉพาะทางเกือบครบทุกสาขา ได้จัดให้เป็นศูนย์ทันตกรรมเฉพาะทาง สามารถลดการส่งต่อผู้ป่วยทันตกรรมได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ และเพิ่มบริการผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วน เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ไส้เลื่อน ริดสีดวงทวาร ให้บริการผู้ป่วยอำเภอนครชัยศรีและอำเภอข้างเคียง สำหรับโรงพยาบาลนครชัยศรี ซึ่งอยู่บนเส้นทางสายหลัก พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ เน้นการประเมินผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง มีข้อมูลผู้ป่วยและที่อยู่บันทึกในระบบฐานข้อมูล สามารถบอกพิกัดเมื่อโทรศัพท์เข้าศูนย์สั่งการ และมีระบบปรึกษาทางไกล (Telemedicine) ติดตามอาการ ให้การดูแลผู้ป่วยตั้งแต่อยู่ในรถพยาบาล ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว และสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดสำหรับโรคหัวใจที่ไม่รุนแรง ไม่ต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลนครปฐม ลดการเสียชีวิตและความพิการ รวมทั้งจัดบริการเชิงรุกในโรงงาน เพิ่มรายได้โรงพยาบาล
*********************************** 7 กรกฎาคม 2562