ผู้ตรวจ อว. ติดตามโครงการ CAV Proving Ground เฟส 2 ของกรมวิทย์ฯ บริการ ต่อเนื่องจากเฟสแรก ณ EECi จ.ระยอง

วันที่ 14 มิถุนายน 2566 นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะ เดินทางไปพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เพื่อตรวจติดตามโครงการสร้างสนามทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (CAV Proving Ground) ระยะที่ 2 ภายใต้การดำเนินงานของกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ตามแผนการตรวจราชการกระทรวง อว. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมี ดร.กรธรรม สถิรกุล นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านฟิสิกส์และวิศวกรรม พร้อมด้วย ดร.ปาษาณ กุลวานิช นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักให้การต้อนรับและรายงานความก้าวหน้า ณ ห้องประชุม C-104 อาคาร EECi (สวทช.) พร้อมนำคณะเยี่ยมชมภายในพื้นที่สนามทดสอบของโครงการฯ

นายปาษาณ กุลวานิช นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ วศ. ได้รายงานที่มาของโครงการสร้างสนามทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (CAV Proving Ground) โดย วศ. มองเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจด้านเทคโนโลยีการเคลื่อนย้ายแห่งอนาคต (Future Mobility) โดยเฉพาะโครงสร้างการคมนาคมที่จะเปลี่ยนจากเดิมไปสู่ระบบขับเคลื่อนเครื่องยนต์ด้วยระบบไฟฟ้า หรือการขับขี่อัตโนมัติ ดังนั้นเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงระบบดังกล่าวได้จำเป็นต้องยกระดับด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงประเภทปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ โทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น การผลิตระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า แบตเตอรี่ อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยแบบ Advance Driver Assistance System : ADAS ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ซึ่งประเทศไทยนั้นสามารถพัฒนาระดับการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีดังกล่าวได้ วศ. จึงดำเนินการร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ให้ได้รับการรับรองคุณภาพสินค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งสนามทดสอบ Connected and Autonomous Vehicle (CAV) Proving Ground ในพื้นที่ EECi ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (NQI) ในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตของประเทศไทย การจัดเตรียมความพร้อมบุคลากรสำหรับการให้บริการทดสอบยานยนต์อัตโนมัติ การยกระดับคุณภาพของยานยนต์แห่งอนาคตที่พัฒนาและผลิตในประเทศให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนเพื่อใช้เป็นสนามทดสอบระบบอัตโนมัติระดับ SAE AV Level 3-5 จากต่างประเทศก่อนที่จะสามารถนำรถมาทดสอบบนถนนจริงของประเทศไทย เป็นการดึงดูดความสนใจของบริษัทชั้นนำระดับโลกทางด้านเทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติให้มาลงทุนหรือประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติขั้นสูงในประเทศไทย

ทั้งนี้ โครงการสร้างสนามทดสอบฯ กำหนดเวลาดำเนินงาน 4 ปี (ปี 2565-2568) โดยในปีงบฯ 2566 จะเป็นการก่อสร้างสนามทดสอบในเฟส 2 มีเป้าหมาย สร้างอาคารรับรอง อาคาร Workshop รองรับความพร้อมด้านการทดสอบสัญญาณควบคุมรถในระบบ 5G, Wireless LAN (WLAN), 4G LTE ของการสร้างสนามทดสอบยานยนต์แห่งอนาคตแบบ Connected and Autonomous Vehicle (CAV) proving ground ทั้งนี้ การเตรียมการก่อสร้างในเฟส 2 จะต้องไม่กระทบต่องานก่อสร้างที่เสร็จสิ้นแล้วในเฟสแรก จะมีการดำเนินการตรวจแบบอย่างละเอียดที่ สามารถ Update กับหน้างานจริง รวมทั้งประเด็นการเชื่อมต่อสาธารณูปโภคต่างๆ อยู่ในขั้นตอนจัดหาผู้รับจ้างโดย วศ. ได้จัดทำ TOR ฉบับสมบูรณ์พร้อมดำเนินการประกวดราคาเพื่อคัดเลือกผู้รับจ้าง ต่อไป

โอกาสนี้ ดร.ปาษาณฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการในปีงบฯ 2565 โดย วศ. ได้ก่อสร้างสนามทดสอบเฟส 1 (ถนนและลานทดสอบ) เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งติดตั้งระบบเซนเซอร์ และระบบ Autonomous Negative สำหรับรถอัตโนมัติ และวิ่งทดสอบระบบ ณ สถานีกลางบางซื่อและ EECi โดยรถอัตโนมัติมีการพัฒนาวิธีทดสอบตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ADAS EURO NCAP และตามมาตรฐาน ISO22737 (Low speed autonomous driving), UNECE R157 (automated lane keeping) พร้อมกันนี้ ยังได้ทดลองและพัฒนาระบบรถอัตโนมัติระดับ 3 ด้วย platform รถกอล์ฟอัตโนมัติ รวมทั้งทดสอบการทำแผนที่แบบ HD map เพื่อใช้ในการควบคุมรถอัตโนมัติ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการใช้งานระบบรถอัตโนมัติ โดยในขั้นต้นจะทดลองและทดสอบระบบบริเวณโดยรอบ วศ. ก่อนที่จะนำไปทดสอบที่ EECi ต่อไป

ด้าน นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ อว. กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าว นับเป็นโครงการสำคัญของ วศ. ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์อนาคต ชื่นชมในศักยภาพและความเชี่ยวชาญของนักวิทยาศาสตร์ วศ. ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย พยายามพัฒนาเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ วศ. ได้พัฒนาหุ่นยนต์ขนส่งอาหารและเวชภัณฑ์สนับสนุนสถานพยาบาลหลายแห่ง ดังนั้น สำหรับการดำเนินงานโครงการ CAV Proving Ground นับว่ามีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหารโครงการในระยะยาวหลังจากสร้างสนามและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แล้วเสร็จ โดยเฉพาะการดึงกลุ่มเป้าหมายหรือผู้รับบริการที่ต้องมีความต่อเนื่องและยั่งยืน ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาเพื่อร่วมวิจัยพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนากำลังคนที่จะมารองรับการดำเนินงานในอนาคต

#กรมวิทยาศาสตร์บริการ #กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #กระทรวงอว #MHESI #DSS