2 มิถุนายนนี้ RCEP บังคับใช้เต็มรูปแบบกับสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ

ฟิลิปปินส์ให้สัตยาบันสารต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนเป็นสมาชิกสุดท้ายของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ส่งผลให้ RCEP มีผลบังคับใช้กับสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า RCEP ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 โดยในปี 2565 มีผลบังคับใช้กับสมาชิกทั้งหมด 13 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และเมียนมา และในปี 2566 มีผลบังคับใช้กับอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2566 และล่าสุด กับฟิลิปปินส์ในวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ส่งผลให้มีผลบังคับใช้กับสมาชิกรวม 15 ประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น กรมการค้าต่างประเทศในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: C/O) จึงได้ออกประกาศกรมการค้าต่างประเทศฉบับใหม่เพื่อรองรับการมีผลบังคับใช้ดังกล่าว โดยได้รวบรวมประกาศกรมการค้าต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ทั้ง 6 ฉบับไว้ในฉบับเดียว และคงเนื้อหาสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ต่างๆ ตามที่ความตกลงกำหนดไว้เช่นเดิม เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการสืบค้นและอ้างอิงหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรายชื่อสมาชิก 15 ประเทศของความตกลง RCEP กฎถิ่นกำเนิดสินค้าและกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules: PSR) ตามพิกัด HS 2022 ระเบียบวิธีปฏิบัติในการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP และรูปแบบของ Form RCEP เป็นต้น

นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาชิก RCEP เป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยและมีความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ระดับทวิภาคีและพหุภาคีที่บังคับใช้แล้วหลายฉบับ โดย RCEP จะช่วยลดความยุ่งยากของการวางแผนการผลิตสินค้าเนื่องจากสามารถใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin: ROO) เดียวกันกับสมาชิกทั้งหมด รวมทั้ง RCEP เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีการยกระดับจาก FTA อื่น ๆ นอกเหนือจากการค้าสินค้า อาทิ e – Commerce การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การอำนวยความสะดวกในการค้ายุคใหม่ การส่งเสริมนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ แม้ว่าอัตราภาษี RCEP สำหรับสินค้าบางรายการจะสูงกว่าเมื่อเทียบกับ FTA อื่น ๆ อย่างไรก็ดี อัตราภาษีจะค่อย ๆ ทยอยลดลงเป็นขั้นบันได จนเป็น 0 ในปีที่ 10 11 15 16 หรือ 21 ที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 มีนาคม 2566 การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า RCEP มีมูลค่า 1,299 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีการมาขอใช้สิทธิฯ มากที่สุด ได้แก่ น้ำมันหล่อลื่น มูลค่า 642 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปลาทูน่ากระป๋อง มูลค่า 155 ล้านเหรีญสหรัฐฯ มันสำปะหลังเส้น มูลค่า 85 ล้านเหรียญสหรัฐ ทุเรียนสด มูลค่า 51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เลนส์ ปริซึม กระจกเงา และวัตถุเชิงทัศนศาสตร์อื่นๆ