นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดป้าย “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” และงาน Open House “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” โดยมี ผู้บริหารระดับสูง และผู้แทนองค์กรหลักสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ นายคมกฤช จันทร์ขจร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นางสาวทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ นายวุฒิพล ทับธานี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ พร้อมด้วย ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ร่วมพิธีดังกล่าว ณ บริเวณด้านหน้าอาคารกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และห้องประชุมบุณยเกตุ อาคารหอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในงาน Open House “กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ” ว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความมุ่งมั่นให้คนไทยทุกเพศทุกวัยมีโอกาสเรียนรู้และเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ แต่ละบุคคลได้พัฒนาตามความพร้อม ความสามารถ ความเหมาะสม และความต้องการ มีความรู้และทักษะในการดำรงชีวิต การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกยุคใหม่ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้คนไทยในอนาคตเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีแบบแผนได้อย่างประสิทธิภาพ ในอดีตที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการจัดตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่ เพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือของประชาชนอันเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ ได้ปรับฐานะเป็นกรมการศึกษานอกโรงเรียน หรือที่เรารู้จักกันในนาม กศน. ได้ขยายภารกิจในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย รวมทั้งเปิดโอกาสให้กับกลุ่มผู้ด้อย พลาด ขาดโอกาสทางการศึกษา และประชาชนทั่วไปทุกช่วงวัย ได้เข้ารับบริการการศึกษาและการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ทำให้ กศน. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคนให้มีความรู้และทักษะความสามารถยกระดับการศึกษาของประชาชนให้สูงขึ้น พร้อมกับการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ให้ประชาชนสามารถจัดการชีวิตของตนเองอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ประชาชนมีความผูกพันและให้ความร่วมมือในการทำงานกับ กศน. ด้วยดี ตลอดระยะเวลากว่า 8 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้ วิถีชีวิตและการเรียนรู้ของประชานเปลี่ยนแปลงไป สืบเนื่องมากจากความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและการสื่อสาร การขยายตัวทางสังคมในโลกยุคใหม่ที่ได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง เกิดองค์ความรู้และวิทยาการใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรเกิดความต้องการในการแสวงหาความรู้ นำไปสู่การเรียนรู้ในแทบทุกกิจกรรมของสังคม ส่งผลให้เกิดกิจกรรมเรียนรู้รูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นซึ่งรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และพิจารณาเห็นว่าควรมีการปรับโครงสร้างหน่วยงานภายใน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศ จึงได้มีการผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 และจัดตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนคนไทยทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสจะสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านการมีส่วนร่วมของ ทุกภาคส่วน ภายใต้ปรัชญา No One Left Behind หรือ การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า ประเด็นสำคัญในการจัดตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ คือ การเชื่อมโยงรูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่ทำอยู่เดิม กับรูปแบบการเรียนรู้ในบริบทสังคมยุคปัจจุบัน มีการจัดตั้งหน่วยจัดการเรียนรู้ที่จะขยายตัวรองรับทุกพื้นที่ ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มทักษะชีวิต เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น ตามแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในรูปแบบที่หลากหลาย โดยมีการสร้างเครือข่าย ความร่วมมือจากหน่วยงานในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ดังนั้นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ จึงเป็นหน่วยงานที่ต้องมีการปรับตัว ให้ตอบสนองความต้องการทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหน้าที่ภารกิจของกรมส่งเสริมการเรียนรู้จะมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มุ่งให้เกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามความสนใจหรือความถนัด ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกประเภท และองค์ความรู้ต่างๆ เพิ่มพูนความรู้ให้กว้างขวาง รู้เท่าทันพัฒนาการของโลกอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง ยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเอง ครอบครัว ชุมชน หรือ สังคม และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ ในการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้ซึ่งไม่ได้รับการศึกษาในสถานศึกษา หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือทุรกันดารให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามสิทธิที่ควรได้รับ รวมทั้งการจัดให้มีการเรียนรู้รูปแบบอื่น ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยทั้งหมดนี้ผ่านการมีส่วนร่วมของ 3 เสาหลัก ได้แก่ รัฐ เอกชน และท้องถิ่น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่รับผิดชอบก็จะขยายวงกว้างขึ้น ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกช่วงวัย รวมทั้งมีความคาดหวังจากสังคมว่าจะเป็นกำลังสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในการจัดการเรียนรู้ของประเทศไทย รูปแบบการทำงานจึงต้องเป็นแบบบูรณาการทั้งแนวระนาบเดียวกัน และแนวตั้ง ทั้งในกระทรวง และระหว่างกระทรวงที่สำคัญ คือต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการร่วมจัดและส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งจะนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง ในโอกาสนี้จึงขอแสดงความยินดีแก่ชาวกรมส่งเสริมการเรียนรู้ทุกท่าน และเชื่อว่ากรมส่งเสริมการเรียนรู้จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา ไปสู่การเรียนรู้ของคนไทยตลอดช่วงชีวิต เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ประชาชนทุกคน และรองรับการพัฒนาประเทศต่อไป
นายคมกฤช จันทร์ขจร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวว่า พิธีเปิดป้าย “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” และงาน Open House “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” ครั้งนี้ สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 โดยมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งได้เปลี่ยนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นกรมในกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งได้ดำเนินการโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้สิน และภาระผูกพัน จากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนของสำนักงาน กศน. มายังกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 และการจัดตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ให้กับผู้บริหารและบุคลากรทุกประเภททุกระดับ ในกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งหน่วยงานและองค์กรภาคีเครือข่าย ตลอดจนประชาชนทั่วไป กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ได้กำหนดจัดพิธีเปิด “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” และงาน Open House “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” ณ บริเวณด้านหน้าอาคารกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และห้องประชุมบุณยเกตุ อาคารหอประชุมคุรุสภา แห่งนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ อดีตผู้บริหาร กศน. ผู้บริหาร สกร. ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค บุคลากร สกร. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมงาน รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดกิจกรรมภายในงาน เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์สาธารณะต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างให้แก่ประชาชน นายคมกฤช กล่าวในที่สุด