เนื่องในวันสุขบัญญัติแห่งชาติ 28 พฤษภาคม กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะประชาชน สร้าง “สุข” ด้วยการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องตามหลักสุขบัญญัติ ที่ปฏิบัติได้ทุกวัยและทุกวัน ส่งผลให้สุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง อายุยืนยาว ห่างไกลโรคภัย
แพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบและแข่งขันสูง ทำให้ผู้คนอาจละเลยที่จะใส่ใจในวิถีชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเรื่องการกินอยู่ ประกอบกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น การเข้าถึงทุกสิ่งสามารถทำได้ผ่านปลายนิ้วสัมผัส ทำให้มนุษย์สมัยใหม่ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้คนไทยมีแนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งหากปล่อยปละละเลย ขาดความตระหนักในการดูแลสุขภาพ จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพในระยะยาว ดังนั้นในวันนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 28 พฤษภาคม ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวัน “สุขบัญญัติแห่งชาติ” ของทุกปี กรม สบส.ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกต้อง หันมาสร้างสุขภาพดีให้ตนเองและบุคคลในครอบครัว โดยยึดหลักสุขบัญญัติ 10 ประการ เป็นแนวทางในการสร้างสุขภาพดี โดยการปลูกฝังสร้างเสริมให้เด็กวัยเรียนและเยาวชนปฏิบัติสุขบัญญัติทั้ง 10 ข้อ ให้เป็นสุขนิสัย เพื่อมีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจอย่างยั่งยืน ส่วนผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการลดและหลีกเลี่ยงอาหาร รสหวานจัด เค็มจัด อาหารมัน และมีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เช่น นั่งๆ นอนๆ อยู่กับที่นานๆ งดดื่มสุราและสูบบุหรี่ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ การปฏิบัติสุขบัญญัติจะทำให้ลูกน้อยเติบโต แข็งแรง สมส่วน และมีพัฒนาการสมวัย
ด้านนายชาญยุทธ พรหมประพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวว่า สุขบัญญัติ 10 ประการ เป็นแนวทางการส่งเสริมสุขภาพในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วย 1. ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ2.รักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันอย่างถูกต้อง นาน 2 นาที วันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ ดูแลสุขภาพช่องปากและพบทันตแพทย์ทุกปี 3.ล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่าย 4.รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการตามวัย สุก สะอาดและปราศจากสารอันตราย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด โดยเฉพาะเค็มจัด หวานจัด ใส่สีฉูดฉาด 5.งดสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดและอบายมุขทั้งปวง รวมทั้งไม่สำส่อนทางเพศ 6. สร้างสัมพันธภาพในครอบครัวให้อบอุ่น ด้วยกิจกรรมที่สร้าง ความสุข ความรักความผูกพันธุ์ในครอบครัว 7.ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท ปฏิบัติตามกฎแห่งความปลอดภัยในชีวิตประจำวันอย่างเคร่งครัด 8. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที ลดกิจกรรมที่นั่งนอนอยู่กับที่นานๆ เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้คอมพิวเตอร์ หากจำเป็น ต้องจัดท่าทางให้ถูกต้อง และลุกขึ้นยืดเหยียดร่างกาย ผ่อนคลายสายตา ทุก 1 ชั่วโมง มีการตรวจสุขภาพประจำปีตามวัย เพื่อตรวจคัดกรองสุขภาพ 9. ฝึกฝนการทำจิตใจให้สงบ มองโลกในแง่ดี รู้จักการให้อภัย หากมีความเครียด ต้องใช้สติและหาทางออกอย่างถูกต้องเหมาะสม และ 10. มีสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม เพื่อการสร้างสรรค์สังคม เช่น เป็นจิตอาสา เป็นต้นแบบที่ดีด้านสุขภาพในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2561 กองสุขศึกษา ได้ดำเนินการตามนโยบายของกรม สบส.ในการเสริมสร้างและปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริม สนับสนุน ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขบัญญัติแห่งชาติ การพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ และการปฏิบัติตามสุขบัญญัติแห่งชาติ ให้เหมาะสมกับที่เป็นคนไทย ยุค 4.0 ที่สามารถพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพและช่วยเหลือครอบครัว ชุมชน และสังคมได้อย่างยั่งยืน โดยผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลด้านสุขภาพได้ที่เว็บไซต์ คลังความรู้สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (healthydee.moph.go.th) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง