วันที่ 12 มิถุนายน 2566 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันวันที่ 12 มิถุนายน 2566 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 39,869 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรองรับน้ำรวมกันได้อีกประมาณ 36,486 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,301 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯรวมกัน สามารถรองรับน้ำรวมกันได้อีกประมาณ 13,570 ล้าน ลบ.ม.
จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา วันที่ 12-18 มิ.ย. 66 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ในส่วนของภาคใต้มีฝนตกหนักในบางพื้นที่ กรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมแหล่งน้ำสำรองเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด รวมทั้งการขุดลอกคลองต่างๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ และเพื่อลดปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไปด้วย