วธ. ร่วมแสดงความยินดี “งานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ จากจังหวัดสุโขทัย” และ “งานพลุนานาชาติของเมืองพัทยา” คว้ารางวัล Gold Prize งานเทศกาลที่มีศักยภาพ (ธีมงานกลางคืน) ประจำปี 2023 ระดับเอเชีย

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาล โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินนโยบายผลักดัน Soft Power ความเป็นไทยสู่ระดับโลก ซึ่งล่าสุดเป็นที่น่ายินดีที่ งานเทศกาลประเพณีของประเทศไทย ได้แก่ “งานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ จากจังหวัดสุโขทัย” และ “งานพลุนานาชาติของเมืองพัทยา” ได้สร้างชื่อเสียงและคว้ารางวัล Gold Prize งานเทศกาลที่มีศักยภาพ (ธีมงานกลางคืน) ประจำปี 2023 จากสมาคมการจัดงานอีเวนท์และเทศกาลนานาชาติ หรือ International Festival & Events Association (IFEA) ภูมิภาคเอเชีย (ASIA Chapter) ณ เมืองทงยอง (City of Tongyeong) จังหวัด คยองซังใต้ (Gyeongsangnam-do) สาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea) ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จมีสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สสปน. หรือทีเส็บ ได้ดำเนินงานร่วมกับจังหวัดสุโขทัย สนับสนุนและดำเนินการส่งเข้าประกวดในครั้งนี้

ทั้งนี้ นับเป็นการตอกย้ำว่าเทศกาลลอยกระทงของสุโขทัย มีเสน่ห์และศักยภาพของเทศกาลลอยกระทงที่เป็นสีสันยามค่ำคืน และเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายปลายทางที่ดึงดูดผู้คนให้มาเยือนเพื่อสัมผัสประสบการณ์ของเทศกาลแห่งความสุขและความสนุกสนานดังกล่าวมาตลอด และยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการดึงนักเดินทางต่างชาติให้มาท่องเที่ยวมากขึ้น เกิดตลาดการลงทุนและท่องเที่ยวใหม่ๆ อาทิ ประเทศเกาหลีและภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ จังหวัดสุโขทัย ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมื่อปี 2562 ตลอดจนจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และเพชรบุรี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านอาหาร หัตถกรรมพื้นบ้าน และการออกแบบจากเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) เป็นการสะท้อนเอกลักษณ์ที่มีศักยภาพของแต่ละภูมิภาคในประเทศไทย และถือเป็นอีกความสำเร็จจากความร่วมมือตั้งแต่ระดับชุมชน ไปจนถึงภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสาน พัฒนาภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับจังหวัดหรือเมืองอื่น ๆ อีกด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งจังหวัด ภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ เช่น การถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดนิทรรศการ การแสดงและการสาธิตทางศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ตลอดจนส่งเสริมด้านการประชาสัมพันธ์ ทำให้เกิดช่องทางการรับรู้ให้มากขึ้น โดยเป็นการประกาศยกระดับเทศกาลประเพณีของไทยไปแล้ว 16 จังหวัด ประกอบด้วย 1. ประเพณีกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จังหวัดปัตตานี 2. เทศกาลมรดกโลกบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี 3. ประเพณีหกเป็งนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง จังหวัดน่าน 4. ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก “มาฆบูชาอารยธรรมอีสาน” จังหวัดยโสธร 5. ประเพณีแห่ผ้าพระบฏพระราชทานถวายพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช 6. เทศกาลโคราชเมืองศิลปะ KORAT Street Art จังหวัดนครราชสีมา 7. เทศกาลตามรอยอารยธรรมขอมโบราณปราสาทศิลา “สด๊กก๊อกธม” จังหวัดสระแก้ว 8. เทศกาลเมืองคราม สกลนคร (KRAM & CRAFT SAKON FESTIVAL) นครหัตถศิลป์โลก เจ้าแห่งครามธรรมชาติ จังหวัดสกลนคร 9. เทศกาลอาหารอร่อยเมืองภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์แห่งวิทยาการอาหาร จังหวัดภูเก็ต 10. ประเพณีบุญกลางบ้าน สืบสานตำนานเมืองพนัส จังหวัดชลบุรี 11. เทศกาล “นาฏยแห่งศรัทธา กิ่งกะหร่า น้อมบูชา วิสาขปุรณมี” จังหวัดแม่ฮ่องสอน 12. ประเพณีบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช เลาะตลาดคนเมืองไทนคร จังหวัดนครพนม 13. เทศกาลไทลื้อ “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” จังหวัดพะเยา 14. ประเพณีตักบาตรดอกไม้เข้าพรรษา จังหวัดสระบุรี 15. เทศกาลอาหารผสานศิลป์ เมืองเพชร เมืองสร้างสรรค์ จังหวัดเพชรบุรี และ16. เทศกาลโคมแสนดวง ที่เมืองลำพูนจังหวัดลำพูน ซึ่งหลังจากนี้ วธ. พร้อมสนับสนุนและยกระดับเทศกาลประเพณีของไทยอื่นๆ สู่ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายการปรับบทบาทจากกระทรวงสังคม สู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม ผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F ประกอบด้วย F-Food อาหาร, F-Film ภาพยนตร์และวีดิทัศน์, F-Fashion การออกแบบแฟชั่นไทย, F-Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย และ F-Festival เทศกาลประเพณีไทย สู่ระดับโลก