พาณิชย์’ จัดงาน “หัตถศิลป์ ถิ่นแพรไหม” วันที่ 5 – 7 กรกฎาคม นี้ ที่เซ็นทรัลพลาซ่า จังหวัดอุดรธานี

พาณิชย์’ จัดงาน “หัตถศิลป์ ถิ่นแพรไหม” ยกระดับตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว ผลักดันผ้าไหมไทยให้เป็นที่นิยมในตลาด นำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการเพิ่มมูลค่าสินค้า เน้นการประยุกต์ผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ใช้งานง่าย เจาะกลุ่มผู้บริโภคทุกกลุ่ม ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด พร้อมเร่งสร้างกระแสให้เกิดความภาคภูมิใจในผ้าไหมไทย …เดินสายจัดงานแสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยจากผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาทั่วทุกภูมิภาค ประเดิมจัดงานครั้งแรกระหว่างวันที่ 5 – 7 กรกฎาคม 2562 ณ ลานนาข่า 1 – 2 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า จ.อุดรธานี 

นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า “จากการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินโครงการ “ยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว” โดยได้เดินสายนำผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ เช่น ดีไซน์เนอร์ นักการตลาด ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสินค้า/บรรจุภัณฑ์ และภาพลักษณ์ตราสินค้า ฯลฯ ลงพื้นที่ร่วมให้คำปรึกษาแนะนำในการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อขยายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยให้มีความหลากหลายครอบคลุมความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น มีการถ่ายทอดเทคนิคการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและลดต้นทุนการผลิต กระตุ้นให้ผู้ประกอบการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการพัฒนาผ้าไหมให้มีความทันสมัย ร่วมสมัย และดูแลรักษาง่าย ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ให้นำผ้าไหมไทยมาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย หรือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเพื่อพัฒนาเส้นทางสายไหมสู่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ตามยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการผ้าไหมท้องถิ่น 3 ภูมิภาค ประกอบด้วย 1) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น 2) ภาคใต้ ได้แก่ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช และ 3) ภาคเหนือ ได้แก่ จ.แพร่ จ.ลำพูน จ.เชียงใหม่”

“การดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวประสบความสำเร็จด้วยดี โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการผ้าไหมท้องถิ่นทั้ง 3 ภูมิภาคในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ตลอดจนเกิดการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการผ้าไหมไทย และสามารถเชื่อมโยงไปยังผู้ผลิต ผู้จัดหา นักออกแบบ ผู้ซื้อ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ  ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์แก่สายตานักท่องเที่ยว ผู้ที่ชื่นชอบผ้าไหมไทย และประชาชนทั่วไป ตลอดจนเป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยที่ได้รับการพัฒนาโดยนำเอานวัตกรรมมาใส่ดีไซน์ที่ทันสมัยเข้าไปเพื่อตอบโจทย์ตลาดให้กว้างขวางมากขึ้น กรมฯ จึงได้จัดงานแสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ภายใต้ชื่องาน “หัตถศิลป์ ถิ่นแพรไหม” ขึ้น ระหว่างวันศุกร์ที่ 5 – วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2562 ณ ลานนาข่า 1 – 2 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า จ.อุดรธานี โดยภายในงานฯ จะมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่ได้รับการพัฒนา และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมหลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วย เสื้อผ้าแฟชั่นดีไซน์ที่เหมาะกับผู้บริโภคทุกวัย เครื่องประดับ และของใช้ของตกแต่งบ้าน ฯลฯ โดยมีผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาจากกรมฯ เข้าจัดแสดงงานฯ ผู้เข้าชมงานจะได้ชื่นชมกับความงดงามของผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมแต่ละจังหวัด แต่ละภูมิภาค ซึ่งมีลวดลายที่สวยงาม มีโครงสร้างผ้าและลักษณะการออกแบบที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป รวมถึง สามารถเป็นเจ้าของผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมภายในงานฯ ได้ในราคาสมเหตุสมผล มีความคุ้มค่าคุ้มราคา และสามารถนำไปเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านผ้าไหมแก่ลูกหลานในอนาคตได้อีกด้วย”

“ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำหนดจัดงาน “หัตถศิลป์ ถิ่นแพรไหม” อีก 3 ครั้ง คือ

1) กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 12 – 14 กรกฎาคม 2562 ณ ฮอลล์ 12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

2) จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 19 – 21 กรกฎาคม 2562 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล

3) จังหวัดระยอง ระหว่างวันที่ 26 – 28 กรกฎาคม 2562 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าระยอง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ได้ชื่นชมผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยของผู้ประกอบการท้องถิ่นจากทั่วประเทศ”

“จึงขอเชิญชวนแฟนพันธุ์แท้ผ้าไหมไทย และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงาน “หัตถศิลป์ ถิ่นแพรไหม” ที่ จ.อุดรธานี ระหว่างวันที่ 5 – 7 กรกฎาคม นี้ ตลอดจนการจัดงานอีก 3 ครั้ง ที่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และระยอง นอกจากจะได้อุดหนุนผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยสวยๆ จากผู้ประกอบการท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมผ้าไหมไทยมีความเข้มแข็ง เป็นการสืบสานอัตลักษณ์ผ้าไหมของแต่ละชุมชนให้คงอยู่คู่กับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ทรงคุณค่าผ่านเส้นไหมและลวดลายที่งดงาม สมกับคำที่ว่า “ผ้าไหมไทยสะท้อนเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทย” รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย

ความงดงามของผ้าไหมไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในกลุ่มคนรักผ้าไหมและประชาชนทั่วไป เช่น – ผ้าจกเมืองลอง จ.แพร่ – ผ้ายกดอก จ.ลำพูน – ผ้าจกแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ – ผ้าซิ่นตีนแดง จ.บุรีรัมย์ – ผ้าแพรวา จ.กาฬสินธุ์ – ผ้าโฮล จ.สุรินทร์ – ผ้าอัมปรก จ.สุรินทร์ – ผ้ากาบบัว จ.อุบลราชธานี – ผ้ามัดหมี่ลายแก้วมุกดา จ.มุกดาหาร – ผ้าสาเกต จ.ร้อยเอ็ด – ผ้าพุมเรียง จ.สุราษฎร์ธานี – ผ้ายกเมืองนคร จ.นครศรีธรรมราช – ผ้าจวนตานี จ.ปัตตานี ฯลฯ เป็นต้น

***************************************

ที่มา : กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน