วันที่ 3 มิถุนายน 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชน ที่มีต่อ “วันวิสาขบูชา” ประจำปี พ.ศ. 2566 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 8,450 คนครอบคลุมทุกอาชีพและทุกภูมิภาค สรุปได้พอสังเขปดังนี้
1. เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.44 คิดว่าวันวิสาขบูชา มีความสำคัญ คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ รองลงมา ร้อยละ 65.21 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ร้อยละ 62.26 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธสู่ปรินิพพาน ร้อยละ 45.61 เป็นวันสำคัญสากลของโลก (Vesak Day) ตามลำดับ
2. เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.21 ทราบว่าหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ในวันวิสาขบูชา คือ อริยสัจ 4
3. เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.89 ทราบว่ามีการจัดกิจกรรมงานส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชา พุทธศักราช 2566 โดยทราบการจัดกิจกรรมจากสื่อ 5 อันดับแรก คือ อันดับ 1 เฟซบุ๊ก อันดับ 2 ไลน์ อันดับ 3 โทรทัศน์ อันดับ 4 เว็บไซต์ และอันดับ 5 หนังสือราชการ/หน่วยงานราชการ ตามลำดับ
4. เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.53 สนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชาในปีนี้ รองลงมา คือ ร้อยละ 41.05 ไม่แน่ใจแล้วแต่โอกาส และร้อยละ 9.42 ไม่เข้าร่วม โดยกิจกรรมที่สนใจเข้าร่วม 3 อันดับแรก คือ อันดับ 1 ทำบุญ ถวายสังฆทาน ร้อยละ 61.84 อันดับ 2 เวียนเทียน ร้อยละ 58.78 อันดับ 3 เข้าวัดปฏิบัติธรรม ร้อยละ 51.92
5. ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนจะนำหลักธรรมข้อใดมายึดถือปฏิบัติและนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน อันดับ 1 ความกตัญญู ร้อยละ 63.69 อันดับ 2 สติ ร้อยละ 59.34 อันดับ 3 ศีล 5 ร้อยละ 57.08
6.เด็ก เยาวชน และประชาชนต้องการให้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา 3 อันดับแรก คือ อันดับ 1 ไหว้พระ ทำบุญ ตักบาตร ร้อยละ 71.91 อันดับ 2 ฟังเทศน์ ฟังธรรม ร้อยละ 40.02 อันดับ 3 เวียนเทียนรอบพระบรมสารีริกธาตุ/วัด/สถานที่ปฏิบัติธรรม ร้อยละ 39.28
7.วิธีการที่จะจูงใจหรือเชิญชวนให้เด็ก เยาวชน และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชา 3 อันดับแรก คือ อันดับ 1 การรณรงค์ให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ร้อยละ 56.09 อันดับ 2 จัดกิจกรรมที่เด็ก เยาวชน ประชาชนให้ความสนใจ โดยสอดแทรกองค์ความรู้และกิจกรรม ทางศาสนาร่วมด้วย เช่น กิจกรรมธรรมะ เดลิเวอรี่ กิจกรรมสวดมนต์ ASEAN ข้ามคืนวันวิสาขบูชา กิจกรรม เดิน – วิ่ง กิจกรรม 3 ว วันวิสาขบูชา แวะ (ชมวัด) ไหว้ (ไหว้พระ ขอพร) เวียน (เวียนเทียน) ร้อยละ 51.59 อันดับ 3 จัดนิทรรศการโดยใช้สื่อมัลติมีเดียสามมิติ ที่แสดงถึงพุทธประวัติ ความเป็นมา และความสำคัญของวันวิสาขบูชา ร้อยละ 38.00
นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ได้เสนอให้ วธ. สืบสาน รักษาประเพณีทางพระพุทธศาสนาให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป ประกอบด้วย 1. ประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีท้องถิ่นเกี่ยวกับตำนานการขอฝนจากองค์พญาแถน เสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ของคนในชุมชน ตามประเพณีฮีตสิบสองของชาวอีสาน 2.ประเพณีกวนข้าวทิพย์ ชาวบ้านจะมีการจัดเตรียมวัสดุต่าง ๆ ได้แก่ พืชตระกูลถั่วทุกชนิด ใส่รวมกันลงไป กวนให้สุกจนเหนียว แล้วนําข้าวทิพย์ ที่ได้จากการกวนตักใส่ไว้ในถาดเพื่อเตรียมไว้สําหรับถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ภายในวัด สร้างความสามัคคีปรองดองให้กับชุมชน 3. ประเพณีเวียนเทียนกลางน้ำ พุทธศาสนิกชนพากันนำดอกไม้ธูปเทียนบูชา ล่องเรือไปเวียนเทียนที่วัดกลางน้ำ ด้วยการนั่งในเรือวนรอบวัด 3 ในแต่ละปีจะมีการเวียนเทียน 3 ครั้ง ส่งเสริมให้ประชาชนได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา และ 4.ประเพณีวันอัฏฐมีบูชา หรือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระจำลองขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และน้อมรำลึกถึงพระคุณอันประเสริฐขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่ง วธ. ได้นำข้อเสนอต่างๆ มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันสืบสาน รักษา ต่อยอดงานเทศกาลประเพณีทางพระพุทธศาสนาต่อไป รวมทั้งส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และสร้างความสามัคคีในชุมชนอีกด้วย